มทส. ผนึกกำลังร่วมเครือข่ายความร่วมมือพัฒนา Frontier Technology Consortium ของประเทศไทยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัม

มทส. ผนึกกำลังร่วมเครือข่ายความร่วมมือพัฒนา Frontier Technology Consortium
ของประเทศไทยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัม
 
 
 
 
  
 
วันที่ 19 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รศ. ดร. อนันต์ ทองระอา เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ Frontier Technology Consortium “High Energy Physics, Quantum Technology, Earth Science & Space, BCG” เนื่องด้วยที่ มทส. ขับเคลื่อนงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัม ที่งาน BRAINPOWER THAILAND 2022 “บุญเปิดบ้าน แปงเมือง สร้างคนข้ามพรมแดน สู่อุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต” ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจัดโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากําลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อนําเสนอผลงานที่โดดเด่นของ บพค. ในช่วงปีพ.ศ. 2563-2565 เชื่อมไปสู่แนวทางการบริหารจัดการทุนและเชื่อมความสัมพันธ์ของเครือข่ายการพัฒนากําลังคนระบบนิเวศวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมของประเทศไทย 
 
 
 
 
 
ในงาน BRAINPOWER THAILAND 2022 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ อว. เป็นประธานในพิธีเปิดและให้ปาฐกถาพิเศษ  “การสร้าง Brainpower Thailand สู่การสร้าง Frontier Research Technology และ SHA (สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม) เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากฐานรากสู่เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต” ทั้งนี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการ คณะกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้เล่าถึงความสำคัญของการสร้างกำลังมันสมอง (Brainpower) ของประเทศที่ต้องช่วยกันพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและความสามารถที่นอกจากเชิงวิชาการต้องเดินไปถึงจุดที่สร้างผลิตภัณฑ์ไฮเทคในระดับอุตสาหกรรม และเสนอแนะว่าควรมีการโฟกัสในหัวข้อที่ไทยต้องการพัฒนา พร้อมทั้งยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยีควอนตัมว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ประเทศไทยยังแข่งขันได้เพราะยังเป็นเรื่องใหม่ที่ทั่วโลกยังไม่ได้พัฒนาไปนานนัก
 
 
 
 
 
 
ในส่วนของนิทรรศการ รศ. ดร. วรวัฒน์ มีวาสนา และ อ. ดร. สรวิศ แสงทวีสิน หัวหน้าโครงการและนักวิจัยในโครงการ การสร้างและเสริมแกร่งระบบนิเวศแบบบูรณาการสำหรับการวิจัยทางเทคโนโลยีควอนตัมระดับประเทศ ที่ได้รับทุนจาก พบค. ไปนำเสนอนิทรรศการในหัวข้อ “สู่โลกยุค Quantum Technology และการเตรียมความพร้อมของไทย” ที่แสดงความก้าวหน้าที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาประมาณปีครึ่ง เราทำให้เห็นว่าเรามีนักวิจัยที่มีศักยภาพสูงที่ผลิตผลงานวิชาการและได้ตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำอย่าง Science, Nature, Physics Reports, Applied Physics Reviews, Physical Review A เป็นต้น รวมถึงการทำต้นแบบและมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบ้างแล้ว ในงาน อ. ดร. สรวิศ ยังได้นำผลงานที่ได้รับรางวัลเป็นต้นแบบการวัดและควบคุมการเปล่งแสงของช่องว่างระดับอะตอมในเพชรที่สามารถนำมาทำเป็น Qubit ที่มีสมบัติแปลกเชิงควอนตัมอย่าง quantum superposition นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาทำเป็นเซ็นเซอร์ขนาดเล็กระดับอะตอมที่วัดสนามแม่เหล็กที่มีความละเอียดสูงมากซึ่งอาจจะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ด้วย

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง