มทส. อันดับ 7 ม.ไทย อันดับ 2 ม.เฉพาะทาง sci. & tech. จากการจัดอันดับ Webometrics ประจำปี 2017

มทส. ติดอันดับ 7 ม.ไทย อันดับ 2 ในกลุ่ม ม.เฉพาะทาง sci. & tech.

จากการจัดอันดับโดย Webometrics จากประเทศสเปน ประจำปี ค.ศ. 2017

 

เผยผลการจัดอันดับ 2017 Ranking Web of Universities โดย Webometrics จากประเทศสเปน เพื่อจัดอันดับความสามารถในการเป็นมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university) ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก จำนวนกว่า 26,000 แห่ง ผ่านทางเว็บไซต์ ที่ http://www.webometrics.info  ซึ่งประกาศผลการจัดอันดับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับ 7 ของประเทศไทย โดยมีอันดับสูงขึ้น 2 อันดับจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นอันดับ 2 ของประเทศในกลุ่มมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  อันดับที่ 262 ของเอเชีย และอันดับที่ 1,045 ของโลก อธิการบดี มทส. ย้ำทำให้เห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของ มทส. อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่สามารถผลักดันจนมีศักยภาพอยู่ในอันดับใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศได้

ตารางการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยใน Webometrics

 

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. กล่าวว่า การจัดอันดับ "Webometrics Ranking of World Universities" จัดทำโดย Cybermetrics Lab หรือ Internet Lab ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศสเปน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2004 จะมีการประกาศผลการจัดอันดับเว็บไซต์ 2 ครั้งต่อปี คือ ช่วงเดือนมกราคม และกรกฎาคม ของทุกปี ผ่านทางเว็บไซต์ www.webometrics.info  ทั้งนี้ การจัดอันดับเว็บไซต์นั้นเพื่อวัดผลงานทางวิชาการที่มีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตนอกเหนือจากผลงานที่มีการตีพิมพ์ลงในวารสาร หรืออื่น ๆ วัดความสามารถในการเป็น "มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university)" และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยมีตัวชี้วัดหลัก จำนวน 4 ตัวชี้วัดของการจัดอันดับ Webometrics ดังนี้

1.   PRESENCE (5%) วัดค่าคะแนนจากจำนวนเว็บเพจ ไดนามิคเพจ ในเซิร์ฟเวอร์เดียวกัน รวมถึง Rich File เช่น PDF ที่ค้นหาเจอได้จาก Google Search Engine 2. VISIBILITY (50%) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ Webometrics ให้ค่าคะแนนมากที่สุด วัดจำนวนเครือข่ายภายนอก (external networks (subnets)) จากผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลในเว็บไซต์จำนวน 2 ค่าย ได้แก่ Ahrefs และ Majestic แล้วนำมาเปรียบเทียบกับ Backlinks ที่สอดคล้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ของแต่ละสถาบัน 3. TRANSPARENCE หรือ OPENNESS (10%) วัดจำนวนงานทางด้านวิชาการที่ถูกอ้างอิงใน Google Scholar Citations ของแต่ละมหาวิทยาลัย  4. EXCELLENCE หรือ SCHOLAR (35%) วัดค่าคะแนนจากข้อมูลของ Scimago ที่เป็นองค์กรรวบรวมผลงานทางด้านวิชาการจากหลาย ๆ แหล่งที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถอ้างอิงได้ เช่น Scopus โดยคำนวณจาก 10% ของผลงานวิชาการที่ถูกอ้างอิงสูงที่สุด นับย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2010 - 2014

 

อธิการบดี มทส. กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการจัดอันดับของ มทส. เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว พบว่า มทส. ได้รับการจัดอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นอันดับที่ 3 และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เป็นอันดับที่ 4  ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าว มทส. มีอันดับสูงขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศ ทำให้เห็นถึงพัฒนาการ ความมุ่งมั่นในการก้าวสู่ความเป็นสากล และยังแสดงถึงความก้าวหน้าของ มทส. อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่สามารถผลักดันจนมีศักยภาพอยู่ในอันดับใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศได้ นอกจากเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกแล้ว ยังเป็นกลไกทำให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย  ที่ผ่านมาพบว่ามีช่องว่างมากระหว่างอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศพัฒนาแล้ว และระหว่างอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศกำลังพัฒนา  ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้สถาบันอุดมศึกษาและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยมีการแสดงข้อมูลและความรู้ผ่านทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในโลก  อย่างไรก็ตาม ถึงการจัดอันดับดังกล่าวแม้ไม่ใช่การจัดอันดับคุณภาพของสถาบันการศึกษาก็ตาม แต่สามารถสะท้อนถึงความสามารถในการผลิต Web Publication และศักยภาพผลงานทางวิชาการที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ช่วยให้มหาวิทยาลัยทราบขีดความสามารถในการเป็นมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university) ได้เป็นอย่างดี

สำหรับวิธีการและตัวแปรที่ Webometrics ใช้เป็นข้อมูลในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยได้จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยที่เผยแพร่ในฐานข้อมูลต่าง ๆ ผ่านทาง Website ของสถาบัน และบนฐานข้อมูลอื่น ๆ ในหลายประเด็น เช่น Website ของมหาวิทยาลัยมีจำนวนไฟล์ที่มีสาระน่าสนใจมากน้อยเพียงใด จำนวนผลงานตีพิมพ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนผลงานที่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ และจำนวนไฟล์ที่มีการถูกนำไปใช้ประโยชน์ การถูกอ้างอิงโดยผลงานตีพิมพ์อื่น ๆ ในฐานข้อมูลของ ISI  รวมทั้งจำนวนความนิยมของผู้ใช้ที่เข้าเยี่ยมชม Web Domain ว่ามีความสม่ำเสมอและมากน้อยเพียงใด เป็นต้น อธิการบดี มทส. กล่าวในที่สุด

ที่มา: http://www.webometrics.info/en/Asia/thailand

 

     


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง