มทส. คว้าอันดับ 2 ของไทย 2 ปี ติดต่อกัน การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ประจำปี 2016

มทส. คว้าอันดับ 2 ของไทย  2 ปี ติดต่อกัน

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ประจำปี 2016
********************

มทส. ปลื้ม ติดอันดับ 102 ของโลก และอันดับ 2 ของมหาวิทยาลัยไทย ในเวทีมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับโลก จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก UI GreenMetric World University Ranking 2016 เป็นข่าวดี เพียง 4 ปีที่เข้าร่วม อันดับดีขึ้นเป็นลำดับ ตอกย้ำภาพแห่งความสำเร็จในการดำเนินนโยบายมหาวิทยาลัยเขียวสะอาด

UI Green Metric World University Ranking คือ การจัดอันดับสถาบันการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งจัดทำโดย มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia : UI) เริ่มตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา เกณฑ์การจัดอันดับของการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของ UI ถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เป็นเกณฑ์ชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเกณฑ์การประเมิน 6 ด้าน คือ ที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการของเสีย การจัดการน้ำ การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยครั้งนี้ มทส. ได้เข้าร่วมการจัดอันดับเป็นปีที่ 4  จากมหาวิทยาลัยทั่วโลก จำนวน 516 แห่ง  โดย มทส. ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ได้คะแนนรวม 5,678 คะแนน รองจากมหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับอันดับที่ 3, 4 และ 5 ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตามลำดับ

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ประกาศนโยบายมหาวิทยาลัยเขียวสะอาด (Green and Clean University) มาตั้งแต่มหาวิทยาลัยเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2537 มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามนโยบายอย่างต่อเนื่องโดยได้กำหนดนโยบายมหาวิทยาลัยเขียวสะอาดให้เป็น 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์ของการพัฒนามหาวิทยาลัย ได้พัฒนาจากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เป็นป่าอุดมสมบูณณ์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัยให้มีความร่มรื่นน่าอยู่น่าอาศัยหรือเป็นมหาวิทยาลัยในรีสอร์ท การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวเกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงประจักษ์โดยมีอาคารที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ เช่น สำนักงานส่วนอาคารสถานที่ได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียว ระดับดีเยี่ยม (G ทอง) ประจำปี พ.ศ. 2558 และอาคารสุรพัฒน์ 1 เทคโนธานี ได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียว ระดับดี (G ทองแดง) ประจำปี พ.ศ. 2559 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม http://www.deqp.go.th

          การดำเนินงานตามนโยบายเขียวสะอาดเป็นไปตามมาตรฐานอาคารเขียว (Thai's Rating of Energy and Environmental Sustainability) http://www.tgbi.or.th และเกณฑ์ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัย สีเขียวโลก (UI GreenMetric World University Ranking) ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้เข้าร่วมจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ในปี พ.ศ. 2556 เป็นปีแรก ได้อันดับที่ 75 ของโลก และ อันดับที่ 8 ของประเทศไทย และด้วยการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปี ทำให้ในปี พ.ศ. 2558 ได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นอยู่ในอันดับที่ 52 ของโลก และ อันดับที่ 2 ของประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ มทส. อย่างยิ่ง  และในปีพ.ศ.2559 มหาวิทยาลัยยังคงมีความมุ่งมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนจึงได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนของประเทศไทย หรือ Sustainable University Network of Thailand หรือ SUN Thailand http://www.sunthailand.org  

          การดำเนินงานตามเกณฑ์ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก พ.ศ. 2559 สรุปผลดำเนินงานดังนี้

 

1.     ด้านที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐาน (Setting and Infrastructure)

มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในเขตชานเมืองของอำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่สีเขียว (พื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ป่าปลูก และสระน้ำ) คิดเป็นร้อยละ 95 ของพื้นที่ทั้งหมด  ทั้งนี้เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้มีแนวคิดในการปรับปรุงสภาพป่าเสื่อมโทรมให้เป็นป่าอุดมสมบูรณ์โดยใช้พื้นที่เท่าที่จำเป็นหรือใช้พื้นที่ลักษณะแทรกตัวไปในพื้นที่ป่าโดยไม่ทำลายสภาพป่าเดิม ได้ทำการปลูกป่าทดแทนในกิจกรรมและโอกาสต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่อาคารที่มีองค์ประกอบของการเป็น Smart Building ขนาด 352,582 ตารางเมตร  คิดเป็นร้อยละ 72 ของพื้นที่ทั้งหมด และได้จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน (งบประมาณสำหรับสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่มีต่อการดำรงชีวิตในมหาวิทยาลัย) คิดเป็น ร้อยละ 30  เมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6

 

2.      การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Energy and Climate Change)

              มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการอนุรักษ์พลังงาน โดยส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพได้ทำการเปลี่ยนทดแทนเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนของจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท เครื่องปรับอากาศ หลอดไฟฟ้า และโคมไฟถนน เฉลี่ยร้อยละ 92 นอกจากนี้ยังได้ดำเนินงานเกี่ยวกับ Smart Building โดยได้ติดตั้งระบบอุปกรณ์ประจำอาคารที่เป็นองค์ประกอบของ Smart Building เช่น ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ ระบบกล้องวงจรปิดแบบรวมศูนย์ และระบบปิด-เปิดไฟอัตโนมัติ เป็นต้น และได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสีเขียว (Green Office) และสำนักงานพลังงานฉลาด เป็นต้น จำนวน  44 อาคาร คิดเป็นพื้นที่อาคารร้อยละ 72 ของพื้นที่อาคารทั้งหมด

              นโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ได้มีการใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ (Solar cell)  พลังงานชีวมวล พลังงานลม ไบโอดีเซล และระบบไบโอแก๊สจากฟาร์มสุกร สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้จำนวน 104,308 KWH/ปี คิดเป็นร้อยละ 0.35 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด

              ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลในการเปลี่ยนทดแทนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้า LED สำหรับโคมไฟถนน จำนวน 400 โคม ช่วยประหยัดงบประมาณค่าไฟฟ้า  จำนวนเงิน 200,000 บาทต่อปี  และการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ จำนวน 80 เครื่อง ช่วยประหยัดงบประมาณค่าไฟฟ้า จำนวนเงิน 1.1 ล้านบาทต่อปี

 

3.     การจัดการของเสีย (Waste)

 มหาวิทยาลัยมีระบบการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบการคัดแยกขยะรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทางผ่านธนาคารวัสดุรีไซเคิล และมีโรงจัดการขยะแบบครบวงจรเพื่อนำขยะมาแปรรูปเป็นพลังงาน ได้ร้อยละ 98 เมื่อเทียบปริมาณขยะทั้งหมด ผลจากการแปรรูปขยะเป็นพลังงานทำให้เกิดผลพลอยได้ประเภทปุ๋ยอินทรีย์ เชื้อเพลิงขยะ และขยะรีไซเคิล สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม จำนวนเงิน 735,983 บาทต่อปี โดยผลพลอยได้ประเภทเชื้อเพลิงขยะ (RDF) จะถูกนำไปกลั่นเป็นน้ำมันและ ใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนผลพลอยได้ประเภทปุ๋ยอินทรีย์จะถูกนำไปใช้เป็นปุ๋ยเพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี ถือเป็นการนำของเสียกลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์  และได้มีการเผยแพร่เทคโนโลยีการแปรรูปขยะเป็นพลังงานของมหาวิทยาลัยไปยังหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างแพร่หลาย

ในปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยได้เปิดให้บริการโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ และมีขยะติดเชื้อเกิดขึ้น จึงได้ก่อสร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อ ขนาด 3 ตันต่อวัน ในปีงบประมาณ 2559 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับกำจัดขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยและรับริการกำจัดจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ภายในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป

ารจัดการน้ำเสียโดยการรวบรวมเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัยและจะถูกส่งต่อไปรีไซเคิลเพื่อใช้ในระบบสุขภัณฑ์ และรดน้ำต้นไม้ คิดเป็นปริมาณน้ำเสียร้อยละ 100 ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

4.     การจัดการน้ำ (Water)

            มหาวิทยาลัยมีระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ทำการขุดสระเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝน มีการนำน้ำใต้ดินมาใช้เพื่อลดการใช้น้ำผิวดิน และมีการรีไซเคิลน้ำเสียเพื่อนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ในระบบสุขภัณฑ์ของอาคาร ระบบสปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้ และระบบทำความเย็น  คิดเป็นปริมาณการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ร้อยละ 100 ของปริมาณน้ำเสียที่ขึ้นทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้มีการเปลี่ยนทดแทนสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำทดแทนแบบดั้งเดิม คิดเป็นร้อยละ 63 ของจำนวนสุขภัณฑ์ทั้งหมด และได้มีการ
ประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความตระหนักในการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ตลอดจนมีการตรวจสอบจุดรั่วไหลของน้ำประปาอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการสูญเสีย จากผลการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้สัดส่วนการใช้น้ำประปาต่อคนลดลงร้อยละ 5

 

5.     การขนส่ง (Transportation)

มหาวิทยาลัยมีนโยบายลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ส่งเสริมให้ใช้รถร่วมกัน (Car Pool) และส่งเสริมให้ใช้รถบริการภายในฟรี เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและลดพื้นที่ลานจอดรถภายในมหาวิทยาลัย  มีระบบการควบคุมรถเข้า-ออกภายในมหาวิทยาลัยทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยรถที่วิ่งเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยจะต้องมีการขึ้นทะเบียนที่ส่วนกลางและติดสติกเกอร์หน้ารถสำหรับผ่านเข้า-ออก หากไม่ติดสติกเกอร์หน้ารถจะไม่อนุญาตให้นำรถเข้ามาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยมีการตรวจสอบและควบคุมอย่างเคร่งครัด  นอกจากนี้ยังได้จัดรถบริการภายในฟรี (Shuttle Bus) จำนวน 16 คัน สำหรับบริการรับส่งนักศึกษาและบุคลากร และมีการส่งเสริมให้ใช้จักรยานและทางเดินเท้า โดยได้ก่อสร้างทางจักรยาน รวมระยะทาง 22,700 เมตร และทางเดินเท้ามีหลังคาคลุม ระยะทาง 2,500 เมตร  ได้จัดบริการจักรยานฟรีประจำอาคารและสำหรับยืมใช้ฟรีภายในมหาวิทยาลัย จำนวน 246 คัน ภายใต้โครงการจักรยานแสดทอง  จากผลการดำเนินงานส่งผลให้ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 2 เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา และมีการใช้เชื้อเพลิงจากธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 5

 

6.      การศึกษา (Education)

               มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ได้มีการเพิ่มการรับรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาพัฒนาอย่างยั่งยืนในรายวิชาที่เปิดสอน โดยมีรายวิชาที่เปิดสอนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน คิดเป็นร้อยละ 38 ของรายวิชาที่เปิดสอนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5 และมีการสนับสนุนทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ร้อยละ 42 เมื่อเทียบทุนวิจัยทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 17 และมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัย โดยได้นำงบประมาณจากกองทุนมาส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย ทำโครงการและกิจกรรมรวมถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย จำนวน 9 ทุน คิดเป็นเงินทุนสนับสนุน จำนวน 498,000 บาท/ปี

 

          ในปี 2559 มหาวิทยาลัยมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย กิจกรรม โครงการ การอบรมสัมมนา การบริการวิชาการ และการเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแหล่งเรียนรู้ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนรี http://rspg.sut.ac.th/index.php/component/content/category/14-sample-data-articles  โดยมีจำนวน 141 กิจกรรม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 23 และได้พัฒนาเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเขียว http://green.sut.ac.th อย่างต่อเนื่อง

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง