มทส. พร้อมจัด “Asian Science Camp 2025” ดึง 3 นักวิทย์ฯ รางวัลโนเบล สร้างแรงบันดาลใจเยาวชนเอเชีย 22 ประเทศ หนุนสร้างเครือข่ายเยาวชนวิทย์ฯ พร้อมโชว์ศักยภาพไทยสู่เวทีโลก

มทส. พร้อมจัด “Asian Science Camp 2025”
ดึง 3 นักวิทย์ฯ รางวัลโนเบล สร้างแรงบันดาลใจเยาวชนเอเชีย 22 ประเทศ
หนุนสร้างเครือข่ายเยาวชนวิทย์ฯ พร้อมโชว์ศักยภาพไทยสู่เวทีโลก
 
 
     มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาฯ (สอวน.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ผนึกกำลังร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชนภูมิภาคเอเชีย : Asian Science Camp 2025 ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2568  ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และ เทคโนธานี มทส. การจัดงานครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา และนับเป็นครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในรอบ 10 ปี พร้อมดึง 3  นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกเป็นวิทยากร มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ และร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยมีเยาวชนระดับหัวกะทิด้านวิทยาศาสตร์จาก 22 ประเทศ กว่า 235 คน จากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมกิจกรรม ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 
 
 
     วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิ สอวน. ร่วมกับ มทส. แถลงความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Asian Science Camp 2025 (ASC2025) ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2568 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และ เทคโนธานี มทส. โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ มูลนิธิ สอวน. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์  และรองประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ร่วมแถลงข่าว 
 
 
     ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรม ASC2025 ว่า “กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพเยาวชนไทยสู่เวทีโลก โดยเฉพาะการเสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนต่างชาติและนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า  เป็นโอกาสที่ดีของเยาวชนไทยจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนจากนานาประทศกว่า 22 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนได้มีพื้นฐานและทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เข้มแข็ง 
 
     “ASC2025 จึงเป็นโอกาสอันล้ำค่าสำหรับเยาวชนไทยที่จะได้เรียนรู้ ลงมือทำ และสร้างแรงบันดาลใจจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก และยังเป็นเวทีที่ประเทศไทยสามารถแสดงศักยภาพทางวิชาการและความพร้อมในระดับนานาชาติได้อย่างเต็มที่”
 
 
 
     ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ มูลนิธิ สอวน.  กล่าวว่า “Asian Science Camp เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ.2007) ที่กรุงไทเป ไต้หวัน  มีประเทศเจ้าภาพหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกปีรวม 14 ครั้ง เช่น อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ เป็นต้น โดยงานดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อต้องการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์  โดยประเทศไทยเคยรับเป็นเจ้าภาพจัด Asian Science Camp 2015 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา  และในปีนี้ พ.ศ. 2568 หรือ ค.ศ.2025 ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน ASC2025 อีกครั้ง ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านประสบการณ์จัดงานวิชาการระดับนานาชาติหลายครั้ง และยังแสดงให้เห็นศักยภาพภาพทางวิชาการของเหล่าเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดทั้งคณาจารย์ และนักวิจัยที่ได้สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง   ASC2025 เจ้าภาพหลักได้แก่มูลนิธิ สอวน. ร่วมกับ มทส. และมีหน่วยงานเจ้าภาพร่วมอีก 7 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กระทรวงการต่างประเทศ  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช. การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 
 
 “การได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง แสดงถึงความเชื่อมั่นในความสามารถและความพร้อมของประเทศไทยทั้งด้านบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และผลงานวิชาการระดับนานาชาติ”
 
 
 
     ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ กล่าวแถลงจำนวนผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ กิจกรรมวิชาการภายในงานว่า “ภายในงาน ASC2025 มีเยาวชนจาก 22 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กว่า 235 คน ในนี้มีผู้แทนเยาวชนไทยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมจำนวน 68 คน  เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ร่วมอภิปราย  และพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ 1. Prof. Dr. Sir Gregory Paul Winter  ผู้ได้รับรางวัล Nobel Prize in Chemistry ปี 2018 จากผลงานการพัฒนาเทคนิค Phage Display เพื่อสร้างแอนติบอดี ซึ่งเป็นรากฐานของยาชีวภาพที่ใช้รักษาโรคต่างๆ รวมถึง Adalimumab หรือ Humira 2. Prof. Dr. Drew Weissman เจ้าของรางวัล Nobel Prize in Physiology or Medicine ปี 2023 จากการค้นพบการดัดแปลงนิวคลีโอไซด์ใน mRNA ซึ่งช่วยลดการอักเสบและทำให้เทคโนโลยีวัคซีน mRNA เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. Prof. Dr. Takaaki Kajita  ผู้ได้รับ Nobel Prize in Physics ปี 2015 จากการค้นพบการแกว่งของนิวทริโน (Neutrino Oscillations) โดยใช้เครื่องตรวจจับ Super-Kamiokande ซึ่งพิสูจน์ว่านิวทริโนมีมวล และเปลี่ยนความเข้าใจพื้นฐานของฟิสิกส์อนุภาค ตามลำดับ 
 
     นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Plenary Speakers อีก 5 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์จากนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่รุ่นกลางชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าจากสถาบันชั้นนำจำนวน 15 ท่าน การจัดแสดงโปสเตอร์นิทรรศการแสดงผลงานของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้พูดคุย สอบถาม แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดประสบการณ์ และได้รับแรงบันดาลใจจากนักวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์เครือข่ายทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เข้มแข็งในอนาคต”
 
 
 
     รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวแถลงความพร้อมในฐานะเจ้าภาพหลักว่า มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพอย่างรอบด้าน ทั้งสถานที่ กำลังคน โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และประสบการณ์การจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา  การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรภาครัฐ และเอกชน หน่วยงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติที่เข้มแข็ง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมงานทุกคนให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรม และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่งาน ASC2025 ในครั้งนี้ คณาจารย์ของ มทส. จำนวน 6 ท่าน ยังได้รับเชิญให้ร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรม Dialogue Sessions ร่วมกับเยาวชนจากนานาชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคณาจารย์ และนักวิจัยภายในสถาบันมีผลงานทางวิชาการ วิจัย และนวัตกรรมเป็นที่ยอมรับในระดับเอเชีย และยังเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน นักศึกษาทั้งในและนานาประเทศ  
  
    นอกจากนี้ มทส. ยังให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไปยังพื้นที่บริการการศึกษาโดยรอบ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคพื้นที่ “นครชัยบุรินทร์” ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ด้วยการจัดพื้นที่ภายในอาคารสุรพัฒน์ 2 เทคโนธานี เปิดโอกาสให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา กว่า 1,000 คน ได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายปาฐกถาจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับโอกาสทางวิทยาศาสตร์ การสร้างแรงกระตุ้นความสนใจทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน เยาวชนในระดับภูมิภาค และนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ มทส. ได้ร่วมเป็นเวทีเชื่อมต่อวิทยาศาสตร์ระดับโลกสู่ภูมิภาค เสริมสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทย และยกระดับบทบาทของมหาวิทยาลัยไทยในเวทีวิทยาศาสตร์นานาชาติ”
 
 
 
     ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส.  รองประธานคณะกรรมการดำเนินงาน กล่าวถึงความพร้อมการจัดงานว่า “กิจกรรม ASC2025 ไม่ได้เป็นเพียงเวทีแห่งการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และแรงบันดาลใจที่เชื่อมโยงเยาวชนจากนานาประเทศเข้ากับความเป็นไทย  ผ่านกิจกรรมเสริมที่หลากหลายทั้ง วัฒนธรรม ทัศนศึกษา และนิทรรศการ อาทิ  ศิลปะป้องกันตัวมวยไทย กิจกรรมการทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน การแสดงและฝึกเล่นโปงลางดนตรีพื้นบ้านอีสาน กิจกรรมชิมอาหารพื้นถิ่นอย่าง หมี่โคราช และแมลงทอด ซึ่งนำเสนอทั้งรสชาติและมิติทางวัฒนธรรมด้านอาหาร รวมถึงการวาดภาพศิลปะร่วมกับศิลปินมืออาชีพ เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ใช้คิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ การทัศนศึกษาเปิดโลกทัศน์ผ่านการเดินทางสู่สถานที่สำคัญต่างๆของจังหวัดนครราชสีมา  เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ  อุทยานประวัติศาสตร์พิมายและแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ที่สะท้อนพัฒนาการของชุมชนโบราณในภูมิภาคอีสาน ทั้งในด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเทคโนโลยีพื้นบ้าน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินซึ่งแสดงวิวัฒนาการของธรรมชาติในช่วงเวลาหลายล้านปี 
 
นอกจากนี้ เยาวชนยังได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยระดับประเทศเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง  ซึ่งช่วยจุดประกายความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำสมัย และพื้นที่แสดงนิทรรศการภายใน ASC2025 ประกอบด้วย นิทรรศการพระราชกรณียกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่นำเสนอพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและพระเมตตาธิคุณที่มีต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ ผ่านความร่วมมือระดับนานาชาติในโครงการสำคัญ อาทิ Thai-CERN, Thai-KATRIN, Thai-GS/FAIR, Thai-JUNO รวมถึง Thai-CAS ร่วมกับสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน  เป็นต้น
 
 
 
 
     นิทรรศการจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) นำเสนอประวัติและความสำเร็จของโครงการโอลิมปิกวิชาการไทย พร้อมแนวคิดในการยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนทั่วประเทศ  นิทรรศการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเฉลิมฉลองครบ 35 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย และนิทรรศการภาพถ่ายสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดย คุณณรงค์ สุวรรณรงค์ ถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติ และกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
 
 
     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะเจ้าภาพได้คัดสรรกิจกรรมในหลายมิติเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม Asian Science Camp 2025 เป็นมากกว่างานค่ายวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเวทีแห่งประสบการณ์ข้ามพรมแดน ที่เปิดโลกทัศน์ เปิดใจและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เติบโตทั้งด้านความรู้ จิตวิญญาณ  และความเข้าใจในความหลากหลายของโลกใบนี้อย่างแท้จริง”
 
   
 
ภาพกิจกรรมเพิ่มเติม :  https://www.facebook.com/share/p/16iy3uSiFB/
 
 
 
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ASC2025 
4 กรกฎาคม 2568

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง