33 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน

33 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ครบ 33 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 กับเส้นทางความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านจากมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) ที่มีความเป็นเลิศทั้งในด้านวิชาการ ด้านการวิจัย และด้านการประกอบการ โดยบริบทการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งไปสู่หมุดหมายของการเป็นที่พึ่งของสังคม (Social Enterprise) ชูบทบาทการเป็น “มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม” ภายใต้วิสัยทัศน์และการดำเนินนโยบาย SUT 2025 เข้าสู่ปีที่ 3 ของ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อยกระดับเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน (Innovation and Sustainable University)”

 

 

ผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานภายใต้แนวนโยบาย SUT 2025

เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายการดำเนินงานใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย Times Higher Education (THE) World University Rankings & Impact Rankings ในปี ค.ศ. 2023 มทส. ยังคงรักษาอันดับ 6 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก และอยู่ในอันดับ 10 ร่วมของประเทศ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับที่ 15 ของปีที่ผ่านมา 2) ผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา/ศิษย์เก่า ในเรื่องอัตราการได้งานทำและประกอบอาชีพอิสระของบัณฑิตอยู่ที่ 80-85% ดีกว่าในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่ไม่ถึง 70% และ 3) ความสามารถในการหารายได้ตามภารกิจเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านงบประมาณ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งดำเนินงานตามนโยบาย SUT 2025 มทส. มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,061 ล้านบาท หรือมากกว่า 24% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถึงไตรมาสที่ 3 มีรายได้ตามภารกิจ 1,095 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้งปี นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณาได้จากผลการดำเนินงานตามกรอบการประเมินตัวชี้วัด SUT Scorecard 16 ตัวชี้วัด พบว่า มี  11 ตัวชี้วัด ที่บรรลุตามเป้าหมายหรือเกินกว่าเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อีกด้วย

ตัวอย่างผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ในปีการศึกษา 2566 สามารถรับนักศึกษาใหม่ได้มากถึง 4,400 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 123% เทียบเป้าหมาย (ประมาณ 3,600 คน) เป็นจำนวนนักศึกษาใหม่ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลมาจากนโยบายการประชาสัมพันธ์หลักสูตรเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักเรียนรู้จักและสนใจมาเรียนที่ มทส. มากขึ้น

 

การปรับตัวของ มทส. ในยุค Disruptive Technology

มทส. ได้พัฒนาระบบการเรียนการสอน Education Platform มีหลักสูตรหรือชุดวิชาที่หลากหลายรองรับความต้องการของผู้เรียนทุกช่วงวัย (Lifelong learning) และการพัฒนากำลังคนในอนาคต (Manpower for the future) ปัจจุบัน ผู้เรียนกลุ่มเดิมหรือนักเรียนระดับมัธยมปลายที่เข้ามหาวิทยาลัยมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ความต้องการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพของกลุ่มคนวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น มทส. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตร Non-Degree, Up-skills/Re-skills/New-skills, short course training จัดการเรียนการสอนนอกเวลา ควบคู่กับระบบคลังหน่วยกิต หรือ Credit Bank ให้มากขึ้น รวมไปถึงผู้เรียนกลุ่มอื่น ๆ เช่น จัดกิจกรรมค่ายวิชาการสำหรับนักเรียนระดับประถมหรือมัธยมต้น จัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นเสริมรายได้ให้แก่กลุ่มผู้เกษียณอายุ เป็นต้น

   

 

ด้านการวิจัย มทส. เน้นผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูง (Impactful Research & Innovation) มุ่งเน้นภารกิจด้านการปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การสร้างพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กร ชุมชน และสังคม โดยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวทางของ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งสะท้อนการเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคมของ มทส. ได้เป็นอย่างดี

     

     

นอกจากนี้ ยังเร่งปรับตัวด้านโครงสร้างองค์กร การวิเคราะห์อัตรากำลัง การจัดสรรงบประมาณ ให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในหน่วยวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เทคโนธานี เพื่อให้สามารถดำเนินภารกิจบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

บทบาทของ มทส. ในการเป็นที่พึ่งของสังคม เชื่อมโยงสู่ภาคสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม

มทส. มุ่งสร้างพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กร ชุมชน และสังคม เพื่อพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักคิด Shared purpose, mutual benefits (WIN-WIN) มีการเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจหรือภาคอุตสาหกรรม อาทิ การเชิญผู้แทนของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาร่วมพูดคุยและรับทราบเกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Center of Excellence: CoE) กลุ่มต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดผลงานวิจัยสู่การสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรมใหม่ ๆ การเชิญสภาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาร่วมหารือผลักดันให้จังหวัดนครราชสีมาเป็น Hub เนื้อวัวคุณภาพสูง เนื่องจาก มทส. มีโรงเชือดและโรงตัดแต่งเนื้อวัวมาตรฐานสูง GMP รองรับ เป็นต้น

 

     

 

การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน จากความสำเร็จของโครงการ ANSEE Khao Yai ซึ่งเป็นการรวมทีมนักวิจัย มทส. แบบบูรณาการศาสตร์ ร่วมพัฒนาด้านการจัดการพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ล่าสุด มทส. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และชุมชนคลองปลากั้ง โดยการสนับสนุนของสถานทูตแคนาดา ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวเปิดเส้นทางเดินป่าแห่งใหม่ “เทรลคลองปลากั้ง” เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติเชิงนิเวศแห่งแรกของ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชัน “Klong Plakang Trail” สำหรับเดินป่าอุทยานเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และเป็นต้นแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งอื่น ๆ อย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

นอกจากนี้ ความร่วมมือกับสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานให้แก่บัณฑิต ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นพิเศษมาโดยตลอด

 

หมุดหมายการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน” กับธงที่วางไว้ในอนาคต

การดำเนินงานที่ผ่านมาถือได้ว่าบรรลุตามเป้าหมายในระดับที่น่าพอใจ ด้านการจัดการศึกษาที่ปรับปรุงและพัฒนาให้สอดรับกับความต้องการของผู้เรียนทุกช่วงวัย ระบบคลังหน่วยกิต ซึ่งถือได้ว่ามีความคืบหน้าที่ดี เปิดหลักสูตรใหม่ ๆ ตอบโจทย์การผลิตกำลังคนในอนาคต การพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ การจัดการศึกษาแบบโมดูล (Modular Program) มีจำนวนชุดวิชาที่อยู่ในระบบคลังหน่วยกิตจาก 82 ชุดวิชา เพิ่มขึ้นเป็น 163 ชุดวิชา และจำนวนผู้เรียนจาก 8,014 คน เพิ่มขึ้นเป็น 18,477 คน ในปีการศึกษา 2565 นอกจากนี้ ยังมี Joint Modular Program ร่วมกับสถาบันเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นต้น

ด้านการวิจัยมีจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูง มีจำนวนทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้น ผลงานวิจัยหลายชิ้นนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม มีผลกระทบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้านจำนวน Student/Alumni Startup/Spin-off และ Investment Fund เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เราพร้อมมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นที่พึ่งของสังคม โดยเน้นภารกิจด้านการปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี เป็น University-Community Engagement เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง SDGs ดังที่กล่าวมา  

 

สำหรับธงที่วางไว้ในระยะยาว ตามนโยบาย SUT 2025 สู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน” ถึงแม้ว่าหลายตัวชี้วัดทำได้ค่อนข้างยากและต้องใช้ระยะเวลา เช่น การตั้งเป้าหมายให้ มทส. เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศ หรือเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เพื่อสร้างความท้าทายและสร้างแรงกระตุ้นให้กับประชาคม มทส. ในการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruptive Technology ดังนั้น หากถามถึงเส้นชัยตามหมุดหมายที่ตั้งไว้อาจยังค่อนข้างไกล แต่สิ่งที่แน่ใจคือ เรามาถูกทางแล้ว

 

“การจะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไปสู่เป้าหมายของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืนได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและการสนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สภามหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมงาน ประชาคม มทส. นักศึกษา รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย หากวิเคราะห์แบบ SWOT แล้ว มทส. มีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน มองเห็นโอกาสอีกมากในการพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ยิ่งใหญ่และเจริญก้าวหน้าขึ้นไป จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาช่วยกันพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย SUT Spirit เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความภาคภูมิใจของพวกเรา SUT PRIDE ตลอดไป”

 

#มทส #SUT #มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี #33rdSUT #SUTPRIDE #SUTSPIRIT #ความภูมิใจในมทส.

 

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง