มทส. เสนอผลงานวิจัยเด่น การพัฒนาศักยภาพการอัดประจุของตัวเก็บประจุยิ่งยวด ด้วยเทคโนโลยีควอนตัม ในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2

ศูนย์บรรณสาร

มทส. เสนอผลงานวิจัยเด่น “การพัฒนาศักยภาพการอัดประจุของตัวเก็บประจุยิ่งยวด ด้วยเทคโนโลยีควอนตัม”
ในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2
 

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2: The Second Materials Research Society of Thailand International Conference” ระหว่างวันที่ 10 - 12 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะซายน์ จังหวัดชลบุรี เวทีในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านวัสดุศาสตร์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ ในโอกาสนี้ งานวิจัย “การพัฒนาศักยภาพการอัดประจุของตัวเก็บประจุยิ่งยวด ด้วยเทคโนโลยีควอนตัม” โดย รศ.ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ จะเข้าร่วมนำเสนอผลงานในที่ประชุมวิชาการครั้งนี้ด้วย
 

 

รศ.ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา เปิดเผยว่า ผลงาน “การพัฒนาศักยภาพการอัดประจุของตัวเก็บประจุยิ่งยวดด้วยเทคโนโลยีควอนตัม” มีความสอดคล้องกับทั้งนโยบาย Firm Renewable Energy (RE firm) หรือพลังงานทดแทนสำหรับใช้ในด้านการผลิตไฟฟ้า นโยบาย Electric Vehicle (EV) หรือยานยนต์ไฟฟ้า และนโยบาย Demand Response หรือการตอบสนองด้านโหลดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการสภาวะวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้า และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยตัวเก็บประจุยิ่งยวดที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทยนี้ มุ่งเน้นให้ต้นทุนการผลิตถูกลง มีศักยภาพการกักเก็บพลังงานเพิ่มขึ้น โดยการวิจัยศักยภาพการอัดประจุของตัวเก็บประจุยิ่งยวดด้วยเทคโนโลยีควอนตัมให้ดีขึ้นจนเหมาะแก่การผลิตเชิงพาณิชย์ ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น นำไปใช้ต่อยอดได้กับทั้งโรงไฟฟ้า RE, ภาคอุตสาหกรรม และ EV ซึ่งจุดเด่นของเทคโนโลยีสถานะควอนตัมที่เรียกว่า “การบีบอัดของอิเล็คตรอนที่ติดลบ” (Negative Electronic Compressibility, NEC) ซึ่งเปรียบเสมือนการเทน้ำลงแก้ว กลับส่งผลให้ปริมาตรของน้ำในแก้วลดลง 

 


 

ประโยชน์จากผลงานวิจัยนี้ จะสามารถลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ และพัฒนาตัวเก็บประจุยิ่งยวดให้มีอัตราการอัดประจุเพิ่มขึ้น โดยลดต้นทุนต่อหน่วยความสามารถกักเก็บพลังงาน (Levelized Cost of Energy : LCOE) ของตัวเก็บประจุยิ่งยวดได้ดีกว่าตัวเก็บประจุยิ่งยวดที่มีขายในท้องตลาดปัจจุบัน 

 


ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.
24 มิถุนายน 2562

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง