อธิการบดี มทส. ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี 2566

อธิการบดี มทส. ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี 2566

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ขอแสดงความยินดีในโอกาสที่ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี 2566 ในฐานะเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัย การศึกษา และกิจกรรมต่าง ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ประกอบสัมมาอาชีวะจนได้รับผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและประเทศชาติ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมอันดี ได้รับการยอมรับนับถือถึงความสามารถ โดยจะเข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในงาน Happy Healthy Party’ 66 ในวันที่ 28 มกราคม 2566 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

 

รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี (เคมี) ในปี พ.ศ. 2532 - 2536 และปริญญาโท (เคมีเชิงฟิสิกส์) ในปี พ.ศ. 2536 - 2538 จากนั้น ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก (Computational Chemistry) ที่ Innsbruck University, AUSTRIA ในปี พ.ศ. 2538 – 2541 เริ่มทำงานที่สาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในตำแหน่งอาจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2542 ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 ตามลำดับ ด้านตำแหน่งบริหาร ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร ในปี พ.ศ. 2548-2552 ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา 2 สมัย ในปี พ.ศ. 2552-2556 และ พ.ศ. 2556-2560 รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี ในปี พ.ศ. 2560-2564 โดยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน พร้อมประกาศนโยบาย SUT 2025: Innovation & Sustainable University ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่พัฒนาและนำเอานวัตกรรม บนพื้นฐานองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 


 

รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาทิ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นผู้รับผิดชอบสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (National Research University, NRU) ทำให้ มทส. สามารถอยู่ใน 5 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยไทย จากผลการจัดอันดับของ Times Higher Education (THE) World University Rankings ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 ได้สร้างรากฐานระบบนิเวศด้านการวิจัยให้เข้มแข็ง มีการออกประกาศเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ทุนสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ทุนสนับสนุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทุนสนับสนุนนักวิจัยเต็มเวลาคุณวุฒิปริญญาเอก/ปริญญาโท การจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (SUT Center of Excellence: CoE) และในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยี ได้วางนนโยบายด้านการวิจัยและการปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากผลงานวิจัย ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประกอบอาชีพในอนาคต การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบ่มเพาะ Startup/Spin-off รวมถึง การพัฒนา Student Entrepreneurship Platform เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) ตลอดจนเสนอแนวทางในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาอย่างยั่งยืนบนมิติของการสร้างคน การสร้างความรู้ และการสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นนโยบายที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

 

ในฐานะอาจารย์สาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาถ่ายทอดสู่นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ในเวลาอันสั้น และก้าวสู่เส้นทางของนักบริหารในมหาวิทยาลัยโดยมีตำแหน่งสำคัญ ๆ จนถึงปัจจุบันได้รับการยอมรับในวงการศึกษาอย่างดียิ่งในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตลอดเส้นทางการทำงานได้สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติจำนวนมาก วางรากฐานการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนากำลังคนในอนาคต นำงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติ และสร้างองค์กรแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมอันดี

 

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น ได้รับทุนวิจัยจำนวนมาก อาทิ ทุนพัฒนานักวิจัย (เมธีวิจัย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา (วุฒิเมธีวิจัย สกว.) สกว. รอบที่ 1 และรอบที่ 2 ทุนวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สกว. ทุนวิจัยโครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ฯ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทุนวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน องค์การมหาชน โดยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลสากล (SCOPUS Database) จำนวน 49 เรื่อง เป็นที่ยอมรับในด้านความรู้ความสามารถ และบทบาทในการพัฒนาวงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

25 มกราคม 2566


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง