อาจารย์สาขาวิชาเคมี มทส. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ปี 2565 รับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

อาจารย์สาขาวิชาเคมี มทส. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ปี 2565
 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลวัช งามเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ผลงาน “งานวิจัยขั้นแนวหน้าทางเคมีไฟฟ้าและการประยุกต์ใช้เทคนิคเคมีไฟฟ้าในเซ็นเซอร์ตรวจวัดสารบ่งชี้โรคและสารพิษในสิ่งแวดล้อม” ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี  2565 รับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



 

ในการนี้ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต อาจารย์ประจำสาขาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 2 รางวัล ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลวัช งามเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย กาญจนาคม อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเข้ารับมอบโล่รางวัลจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงษ์ อุฑารสกุล รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และงบประมาณ มทส. ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล ในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลวัช งามเชื้อ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีควบโท ในสาขา Chemistry และระดับปริญญาเอก ในสาขา Physical and Theoretical Chemistry จาก University of Oxford ประเทศอังกฤษ ภายใต้การสนับสนุนจากทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีผลงานคิดค้นและพัฒนา “งานวิจัยขั้นแนวหน้าทางเคมีไฟฟ้าและการประยุกต์ใช้เทคนิคเคมีไฟฟ้าในเซ็นเซอร์ตรวจวัดสารบ่งชี้โรคและสารพิษในสิ่งแวดล้อม” โดยใช้ Computational Simulation ร่วมกับการทดลองเพื่อศึกษากลไกการเกิดปฏิกิริยาจลนพลศาสตร์ของการถ่ายโอนอิเล็กตรอน รวมถึงการเคลื่อนที่ของสารแบบ Diffusion, Migration และ Convection ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาวัสดุขั้วไฟฟ้าสำหรับระบบกักเก็บพลังงาน ตัวเร่งปฏิกิริยา และเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้า นำไปสู่การพัฒนาเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าแบบ Bottom-up Approach ที่ดึงประสิทธิภาพของวัสดุและเทคนิคการวิเคราะห์มาใช้ได้อย่างสูงสุด โดยสามารถตรวจวัดสารบ่งชี้ทางชีวภาพในตัวอย่างปัสสาวะและน้ำลาย เช่น ครีเอตินิน (โรคไต) กรดยูริค (โรคเก๊าท์) โดพามีน (สารสื่อประสาท) กลูต้าไธโอน (สารต้านอนุมูลอิสระ) รวมถึงการตรวจวัดสารพิษและสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยใช้อุปกรณ์วิเคราะห์ขนาดพกพาที่มีความไวในการวิเคราะห์สูง ได้ผลรวดเร็ว สามารถนำไปใช้ในภาคสนามได้ดี ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลวัช มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวน 40 เรื่อง (h-index = 15) โดยเป็นผู้วิจัยแรกหรือผู้วิจัยหลัก 25 เรื่อง มีผลงานตีพิมพ์บทความวิจัยที่อยู่ในกลุ่มอันดับสูงสุดร้อยละ 10 (Top 10%) เช่น วารสาร Electrochimica Acta, Analytical Chemistry, Advanced Functional Materials    

 


 

https://www.facebook.com/257783102769381/videos/740945450534678

 

          ส่วนประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

16 สิงหาคม 2565


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง