สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน ห้องคลีนรูมความดันลบ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 แก่ รพ.โชคชัย จ.นครราชสีมา และ รพ.ในภาคอีสาน 4 แห่ง สร้างโดยคณะนักวิจัย มทส.

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พระราชทาน ห้องคลีนรูมความดันลบ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19
แก่ รพ.โชคชัย จ.นครราชสีมา และ รพ.ในภาคอีสาน 4 แห่ง สร้างโดยคณะนักวิจัย มทส.
.
.

     เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 เวลา 14.00 น. ณ โรงพยาบาลโชคชัย อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานรับมอบ “ห้องคลีนรูมสำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยแบบความดันลบ (negative pressure)” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งจัดสร้างภายใต้ “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ )” เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาล 5 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย รองศาสตราจารย์ ร.อ. ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล และคณะนักวิจัย ร่วมส่งมอบแก่โรงพยาบาลโชคชัย โดย นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ครุธกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร่วมรับมอบ ทั้งนี้โรงพยาบาลอีก 4 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทยอยส่งมอบให้ครบตามลำดับต่อไป

 

 

    นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “ด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้ง “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ )” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 อาทิ ห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ พระราชทานแก่โรงพยาบาล 4 แห่ง หุ่นยนต์ปิ่นโตและ “กระจก” ระบบสื่อสารทางไกล จำนวน 73 ชุด เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาล 73 แห่ง กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ
.

 

     ต่อมาได้พระราชทานพระราชานุมัติเพิ่มเติม ให้ใช้เงินจากกองทุนดังกล่าวจัดซื้อ ห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ (negative pressure) แบบเคลื่อนที่ ซึ่งออกแบบและจัดสร้างโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (COE) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ บริษัท อีคิวเทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถจัดการอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย ไม่ให้ออกไปนอกห้องและบำบัดอากาศจนปราศจากเชื้อ ทั้งยังลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยรายอื่นและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยมอบให้มหาวิทยาลัยจัดสร้างและติดตั้งห้องคลีนรูมฯ เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ส่งมอบเป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นพื้นที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4 ราย จากนั้น จะส่งมอบแก่ โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลอุดรธานี และโรงพยาบาลชัยภูมิ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป”

 

 

     รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. เปิดเผยว่า “การจัดสร้างห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบแรงดันลบ (negative pressure) แบบเคลื่อนที่ ภายใต้กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 แห่ง เกิดขึ้นจากความร่วมมือและใช้สหวิทยาการในการแก้ปัญหาโดยสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง และบริษัท อีคิวเทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โดยได้รับโจทย์ปัญหามาจากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สิงห์ดง นักวิจัยและนักวิชาการด้านระบาดวิทยา และรองคณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มาถ่ายทอดให้กับทางทีมวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และนักวิจัยสำนักวิชาสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้เล็งเห็นว่า ห้องปฏิบัติการ Clean room เพื่อศึกษาวิจัยชิ้นงานด้านวัสดุนั้นมีหลักการทำงานคล้ายกันกับห้องตรวจหาเชื้อของโรงพยาบาลมาก น่าจะนำหลักการไปประยุกต์สร้างเป็นห้องความดันลบได้ จึงได้ระดมกำลังนักศึกษา และนักวิจัยของศูนย์ฯ ร่วมกับทีมงานจาก บริษัท อีคิวเทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งมี นายสุรวีร์ ลีฬหรัตนรักษ์ เป็นประธานบริษัท ร่วมกันออกแบบโครงสร้าง หลักการทำงาน และการประกอบติดตั้งห้องความดันลบเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากผู้ป่วยเป็นผลสำเร็จ โดยผลงานชิ้นแรกได้นำส่งมอบให้กับโรงพยาบาล มทส. เป็นที่เรียบร้อย โดยเป็นห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ (negative pressure) แบบเคลื่อนที่ ขนาด 3 x 6 x 2.7 เมตร ออกแบบและจัดสร้างเป็นห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโรค แบ่งได้เป็นห้องความดันลบ จำนวน 2 ห้อง สำหรับตรวจหาเชื้อโรคด้วยวิธีป้ายจมูกและลำคอ (swab) ได้พร้อมกัน 2 คน กั้นห้องระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรอย่างชัดเจน ลดการสัมผัส ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค มีห้องปฏิบัติตรวจรักษา และห้องน้ำจำนวน 1 ห้อง ซึ่งติดตั้งไว้แยกจากตัวอาคารหลัก ทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อออกจากห้องตรวจไปสู่สิ่งแวดล้อมและติดต่อไปยังบุคคลอื่น เพราะอากาศที่มีเชื้อโรคจะไม่ไหลออกจากห้องตรวจไปได้ สำหรับการรักษาความดันที่ติดลบนี้อาศัยปั๊มที่ต้องทำงานตลอดเวลา ได้ร่วมกันการออกแบบระบบสำรองไฟเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อกรณีไฟฟ้าดับอีกด้วย

 


 

     สำหรับห้องความดันลบที่ส่งมอบให้โรงพยาบาลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา นั้นเป็นแบบขนาด 3 x 6 x 2.7 เมตร ที่เน้นสำหรับการรักษาพยาบาลและหัตถการความเสี่ยงสูง โดยสามารถเคลื่อนย้ายเตียงผู้ป่วยเข้าออกผ่านห้อง Anteroom ได้ หลังจากการส่งมอบให้โรงพยาบาลโชคชัยซึ่งเป็นแห่งแรกแล้วเสร็จ จะได้ดำเนินการติดตั้งให้แก่โรงพยาบาลที่เหลือทั้ง 4 แห่ง โดยเลือกตามแบบที่จำเป็นของการใช้งานตามลำดับต่อไป ในนามคณะทำงานฯ รู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งในการได้ใช้องค์ความรู้และความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการประดิษฐ์ห้องคลีนรุมนี้เพื่อปกป้องผู้ป่วย ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และบุคลากรทางการแพทย์ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 โดยพระราชานุมัติของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้การช่วยเหลือขยายขอบเขตออกไปยังโรงพยาบาลที่มีความต้องการได้จำนวนมากแห่งขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง”

 

 

     ผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “การให้” โดยบริจาคเงินสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ )” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านช่องทางธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 067-300487-3 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0 2447 8585-8 ต่อ 109, 121 และ 259

 


.
.

ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.
22 เมษายน 2563

italiano xxx film , sesso film tube

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง