มทส. รับรางวัลนักวิจัยแกนนำ 62 จาก สวทช. ผุดนวัตกรรมการออกแบบถนนจากวัสดุรีไซเคิล ตอบโจทย์ประเทศไทยไร้ขยะ

มทส. รับรางวัลนักวิจัยแกนนำ 62 จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผุดนวัตกรรมการออกแบบถนนจากวัสดุรีไซเคิล ตอบโจทย์ประเทศไทยไร้ขยะ
มทส. รับรางวัลและทุนสนับสนุนโครงการนักวิจัยแกนนำประจำปี 2562 จาก สวทช. ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมการออกแบบถนนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างยั่งยืน” ตอบโจทย์ประเทศไทยด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม มุ่งสู่ประเทศไทยไร้ขยะ และความปลอดภัยทางถนน พร้อมพัฒนาต้นแบบการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์
(19 ธันวาคม 2562) ณ ห้องปัทมชาติ ชั้น 23 โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี ร่วมแถลงข่าวและพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมดำเนินการวิจัย โครงการนักวิจัยแกนนำ โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน มทส. หัวหน้าทีมวิจัยที่ได้รับรางวัลและทุนสนับสนุนโครงการนักวิจัยแกนนำ ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมการออกแบบถนนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างยั่งยืน”
ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข เปิดเผยว่า นักวิจัยแกนนำ ไม่ได้เป็นเพียงทุนวิจัยขนาดใหญ่ แต่เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่นักวิจัยชั้นนำของประเทศใฝ่ฝัน ขอขอบมหาวิทยาลัยที่ให้การสนับสนุนและแนวคิดในการดำเนินงานวิจัย จนได้มีโอกาสได้รับทุนในครั้งนี้ และขอขอบคุณผู้บริหาร สวทช รวมทั้งคณะกรรมการพิจารณาทุนนักวิจัย ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการวิจัย เรื่อง “นวัตกรรมการออกแบบถนนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน” และคัดเลือกให้เป็นนักวิจัยแกนนำ ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยโครงการวิจัยนี้ จะตอบ Flagship ด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม ทั้งด้าน Zero Waste Thailand (ประเทศไทยไร้ขยะ) และความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมการประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นวัสดุทำถนนที่มีความมั่นคงแข็งแรง โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในเชิงพานิชย์ ตามนโยบายอย่างยั่งยืนของชาติ โดยจะมีการวิจัยทั้ง การวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการและในสนาม การสร้างมาตรฐานวัสดุ การทดสอบ และการออกแบบถนน รวมถึงการสร้างโรงงานต้นแบบ เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้จะใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี
ถนนเป็นโครางสร้างพื้นฐานที่จำเป็นยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศใน 20 ปีข้างหน้า จากคาดคะเนของกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2563 ความต้องการเดินทางและการค้าจะมีมากถึง 3.07 ล้านคนต่อเที่ยวต่อวัน โครงข่ายของประเทศ ซึ่งรวมทั้งถนนกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และเทศบาล มีความยาวถึง 466,770 กิโลเมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากสามารถสร้างถนนให้มีความคงทนแข็งแรง ก็จะช่วยลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน และลดอุบัติเหตุทางถนน ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ หากสามารถนำวัสดุรีไซเคิล มาใช้ในการก่อสร้างถนนได้ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะและลดปริมาณการใช้วัสดุธรรมชาติได้อย่างมีนัยสำคัญ
ถนนประกอบด้วยผิวทางและโครงสร้างทาง ดังนั้น ความมั่นคงแข็งแรงของถนนจึงขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของทั้งผิวทางและโครงสร้างทาง ซึ่งอยู่ใต้ผิวทาง ในส่วนของผิวทาง (ถนนคอนกรีตและถนนลาดแอสฟัลต์คอนกรีต) งานวิจัยนี้จะเสริมความแข็งแรงด้วยการเติมสารผสมเพิ่ม พวกโพลิเมอร์และไฟเบอร์ ขณะที่ในส่วนของโครงสร้างทาง งานวิจัยนี้จะประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิล เป็นวัสดุโครงสร้างทางแทนวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ หินคลุกและดินลูกรัง วัสดุวัสดุรีไซเคิล ที่จะใช้ในงานวิจัยนี้ ได้แก่ เศษขวดพลาสติก เศษแอสฟัลต์คอนกรีต เศษคอนกรีต และตะกรันเหล็ก
เนื่องจากวัสดุดังกล่าวเป็นวัสดุที่มีความแตกต่างจากมาตรฐานของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลาย ดังนั้น หากต้องการให้วัสดุดังกล่าวนี้สามารถนำมาประยุกต์ได้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาอย่างครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย การทดสอบคุณสมบัติพลวัตของวัสดุผิวทางและวัสดุรีไซเคิล ในห้องปฏิบัติการ การทดสอบพฤติกรรมของถนนจริง การสร้างมาตรฐานวัสดุ มาตรฐานทดสอบ และมาตรฐานก่อสร้าง และการสร้างโรงงานย่อยวัสดุรีไซเคิลต้นแบบ
“ผมคิดว่าเมื่อโครงการวิจัยนี้ประสบความสำเร็จ เราจะได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง มีผลกระทบสูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก และที่สำคัญได้มาตรฐานวัสดุ มาตรฐานก่อสร้าง และมาตรฐานการออกแบบ รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ในการประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิลในงานวิศวกรรมถนนของไทย ตอบโจทย์ทั้ง Zero Waste Thailand และความปลอดภัยทางถนนในที่สุด”
ส่วนประชาสัมพันธ์
19 ธ.ค. 62
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร หารือแนวทางการนำกัญชาไปใช้ประโชน์ทางการแพทย์ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตกัญชาคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ 15 มกราคม 2564
- มทส. ร่วมกับ จ.นครราชสีมา เฝ้าระวัง COVID-19 ปรับหอพักนักศึกษา เป็นพื้นที่กักตัวระดับจังหวัด 11 มกราคม 2564
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เข้ารับรางวัล สถาบันผู้ทำชื่อเสียงด้านกีฬา ให้กับจังหวัดนครราชสีมา 29 ธันวาคม 2563
- มทส. ส่งมอบผลผลิตกัญชาคุณภาพ ให้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยืนยันด้านคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมผลิตยาไทย 5 ตำรับถึงมือประชาชน 25 ธันวาคม 2563
- มทส. รับนักศึกษาสหกิจศึกษากลับจากสมุทรสาคร ตรวจ COVID-19 พร้อมกักตัว 14 วัน ยันยังไม่พบผู้ติดเชื้อ 23 ธันวาคม 2563
- มทส. จัดพิธีเปิด อุทยานเควสตาโคราช ประตูสู่อุทยานธรณีโลก ร่วมพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อม ชุมชน สร้างแหล่งเรียนรู้ อบรมศึกษา และยกระดับอุทยานธรณีโคราชสู่อุทยานธรณีโลกยูเนสโก 18 ธันวาคม 2563
- มทส. ติดอันดับ 8 ของมหาวิทยาลัยไทย ที่ตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูง ตามการจัดอันดับของ Nature Index 2020 15 ธันวาคม 2563
- มทส. เจ้าภาพจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 19 ร่วมยกระดับมาตรฐานวิชาฟิสิกส์ เสริมศักยภาพนักเรียนไทยเทียบเท่าสากล 11 ธันวาคม 2563
- มทส. ติดอันดับ 8 ของไทย อันดับ 115 ของโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก Green Metric World University Ranking 2020 08 ธันวาคม 2563
- มทส. ติดอันดับ 11 ม.ไทย ในการจัดอันดับ ม.ชั้นนำเอเชีย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดย QS University Rankings 04 ธันวาคม 2563