นักวิจัย มทส. เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566

ศูนย์บรรณสาร

นักวิจัย มทส. เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566”

 

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2566 เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมภายในงาน โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์เรื่อง “การพัฒนากล้องถ่ายภาพจอตาสามมิติเพื่อการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในระยะต้น” ต้นแบบเครื่องตรวจจอตาแบบโอซีที สามารถถ่ายภาพตัดขวางจอตาในสองมิติและสามมิติ ประกอบด้วย ระบบติดตามรูม่านตา ระบบตรวจจับสัญญาณสเปกตรัม และระบบหัวถ่ายภาพ มีการพัฒนาระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมการถ่ายภาพและประมวลผลสัญญาณภาพถ่าย รวมถึงส่วนติดต่อผู้ใช้งาน และระบบจัดการฐานข้อมูลภาพถ่ายจอตา ตลอดจนการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ความผิดปกติของจอตาได้ในระยะต้น ของ รองศาสตราจารย์ ดร.พนมศักดิ์ มีมนต์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากโครงการต้นแบบนักประดิษฐ์ไทย นักประดิษฐ์โลก ประจำปี 2564 ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติให้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานในโอกาสนี้ด้วย

 

สำหรับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 ประกอบด้วย รางวัลผลงานวิจัย 1 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ 1 รางวัล และ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น 2 รางวัล ได้แก่

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญญานี คำแก้ว สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานวิจัยเรื่อง “กลยุทธ์ในการมุ่งเป้าทำลายมะเร็งโดยใช้สีย้อมเรืองแสงในช่วงใกล้อินฟราเรด” ซึ่งมีการพัฒนาสารเรืองแสงอินทรีย์ให้มุ่งเป้าไปที่เซลล์มะเร็งโดยใช้ 2 กลยุทธ์ คือ 1. การปรับแต่งโครงสร้างของสารให้รบกวนสมดุลของเซลล์มะเร็ง 2. การเชื่อมต่อกับหมู่ที่จดจำเอนไซม์ที่มีมากในเซลล์มะเร็งได้ จากนั้นทำการรักษามะเร็งผ่านการกระตุ้นด้วยแสง (Photodynamic therapy) จากงานวิจัยนี้ทำให้ได้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ในการออกแบบโมเลกุล เพื่อทำลายมะเร็งแบบมุ่งเป้าด้วยเทคนิคการกระตุ้นด้วยแสงพลังงานต่ำ

อาจารย์ ดร.วรรณวิสา ทลาไธสง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์  ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากวิทยานิพนธ์ เรื่อง “การสร้างเส้นใยนำแสงโพลีเมอร์แบบมีโครงสร้างภายในระดับไมโครเมตร ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อการประยุกต์ใช้ในงานทางด้านเซนเซอร์”  เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาและสร้างเครื่องผลิตเส้นใยนำแสงโพลีเมอร์แบบมีโครงสร้างภายในระดับไมโครเมตร (Microstructured polymer optical fiber, MPOF) ในขั้นตอนเดียว โดยการผสมผสานเทคนิคการบีบอัดแท่งวัสดุผ่านแม่พิมพ์และเทคนิคการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติเข้าด้วยกัน นับเป็นเครื่องต้นแบบเครื่องแรกของโลกที่สามารถผลิตเส้นใยนำแสงโดยตรงได้จากเครื่องพิมพ์สามมิติ ช่วยลดปัญหาเรื่องความล่าช้าและค่าใช้จ่ายที่สูงในการผลิต MPOF และยังแก้ปัญหาในการสูญเสียโครงสร้างภายในของ MPOF ส่งผลให้เกิดการต่อยอดในการพัฒนางานวิจัยสำหรับงานทางด้านการโทรคมนาคมในระยะสั้น การตรวจวัดพารามิเตอร์ด้านสิ่งแวดล้อม และ การส่งสัญญาณเลเซอร์กำลังสูงเพื่องานผ่าตัดทางการแพทย์อีกด้วย

 

รองศาสตราจารย์ ดร.พนมศักดิ์ มีมนต์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากผลงานเรื่อง “ต้นแบบภาคสนามของระบบถ่ายภาพสามมิติความเร็วสูงของเนื้อเยื่อชีวภาพ” เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์สามมิติโดยใช้แสงอินฟราเรดช่วงสั้น (850 nm) เพื่อการถ่ายภาพเนื้อเยื่อตัวอย่างทางชีวภาพแบบรวดเร็ว ใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อ สามารถถ่ายภาพตัดขวางทางลึกได้คล้ายระบบอัลตราซาวด์ แต่มีความละเอียดที่สูงกว่านับพันเท่า ทั้งยังสามารถถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องมีการเตรียมตัวอย่างที่ยุ่งยากและซับซ้อน  โดยเป็นอุปกรณ์ที่ทีมวิจัยดำเนินการออกแบบและสร้างขึ้นเองทั้งหมด ให้ใช้งานได้ง่าย มีขนาดกะทัดรัด และมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าระบบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 10 เท่า

 

รองศาสตราจารย์ ดร.พนมศักดิ์ มีมนต์ และ อาจารย์ ดร.อิทธิพล ฟองแก้ว สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ สาขาสังคมวิทยา จากผลงานเรื่อง “ระบบกล้องตรวจจับและแจ้งเตือนการออกนอกเขตอุทยานของสัตว์ป่า” จากปัญหาการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าและกระทิงในหลายจุด ณ บริเวณรอยต่อป่า-ชุมชน ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ออกมากินผลผลิตการเกษตร ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและสัตว์ป่า จึงได้พัฒนาระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือน ด้วยการผนวกกล้องที่มีอยู่ของอุทยานฯ เข้ากับระบบส่งข้อมูลเข้าสู่คลาวน์เซิร์ฟเวอร์ และวิเคราะห์ภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ แจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ให้สามารถรับมือและดําเนินการผลักดันสัตว์ป่ากลับเข้าพื้นที่ได้รวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.จตุพร วิทยาคุณ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ผู้ร่วมวิจัย จากผลงานวิจัยเรื่อง “บูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิเคราะห์สำหรับพัฒนาและออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะฟอสไฟด์ที่จำเพาะต่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเหลวแห่งอนาคต” ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช อีกด้วย

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง