ผอ.เซิร์น เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทส.

ศูนย์บรรณสาร


เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556เวลา 17.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารนำ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ (Professor Rolf-Dieter Heuer) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือ เซิร์น (CERN) เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร




 

สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้มีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาฟิสิกส์ แก่ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ นักฟิสิกส์อนุภาคชาวเยอรมันผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา Large Hadron Collider, LHC ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่และมีพลังงานสูงที่สุดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ส่งผลให้เซิร์น ประสบความสำเร็จในการทำการวิจัยทดลองเพื่อค้นหาอนุภาค ‘ฮิกส์ (Higgs particle)’ ซึ่งเป็นอนุภาคมูลฐานที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน นับตั้งแต่มีการตั้งสมมติฐานเรื่องการมีอยู่ของอนุภาคนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว โดยนับแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเซิร์น หลังจากนั้นได้สนับสนุนโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวกับเซิร์น อาทิ โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ไทยเพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น โครงการส่งเสริมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านวิทยา ศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าเยี่ยมชม โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งนักวิจัยไทยไปทำงานวิจัยและพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วม กับเซิร์น เป็นต้น ทั้งยังได้สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ของไทยมีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานวิจัยต่างๆ ของเซิร์น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้คณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ทำงานวิจัยร่วมกับห้องปฏิบัติการไอออนหนัก ALICE (A Large Ion Collider Experiment) หรือ อลิซ จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มทส. กับ ALICE เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยต่อไปในอนาคต 
 



จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสตอบ สรุปใจความตอนหนึ่งว่า “...ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์...นอกจากท่านจะเป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถสูง และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแล้ว ท่านยังได้พยายามแสวงหาแนวทางที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทาง ด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นทั่วโลก ข้าพเจ้าหวังว่า ความพยายามนี้สามารถนำไปสู่ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศต่าง ๆ ทำให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้โดยปราศจากข้อขัดแย้ง โดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเข้าหากัน สำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาจากประเทศไทยนั้น การได้รับการยอมรับให้เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ถือเป็นการแสดงถึงมาตรฐานการศึกษาและคุณภาพของประชากรในประเทศได้อย่างดียิ่ง..”



 

 

 


ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.
จันทรรัตน์ บุญมาก : ภาพ/ข่าว



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง