3 นักวิจัย มทส. คว้า 3 รางวัลใหญ่ สภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)

3 นักวิจัย มทส. คว้า 3 รางวัลใหญ่ สภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ระดับดีเด่น 2 ผลงาน ได้แก่ รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2559 เรื่อง “การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการศึกษาสมบัติพิเศษของวัสดุขั้นสูงสำหรับใช้ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา หัวหน้าสาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2560 เรื่อง “เครื่องเอสพีอาร์แบบภาพและระบบฟลูอิดิกแบบหลายช่องวัด” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง สุตะพันธ์ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยรางวัลระดับดี 1 ผลงาน ได้แก่ รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2559 เรื่อง "โครงสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์สองมิติบนพื้นผิววัสดุโลหะทรานซิซันไดแชลโคเจไนด์โดยเทคนิคโฟโตอิมิชชันสเปกโทสโกปี" โดย ดร.ธนชาติ เอกนภากุล นักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเข้ารับมอบรางวัลในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2560 และพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จาก พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. ร่วมแสดงความยินดี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
นักวิจัยที่สามารถคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ 3 รางวัลใหญ่ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา หัวหน้าสาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2559 ระดับดีเด่น (สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์) จากผลงานวิจัย เรื่อง “การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการศึกษาสมบัติพิเศษของวัสดุขั้นสูงสำหรับใช้ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่" โดยความรู้ที่ได้สามารถนำมาใช้ในการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ที่อาจใช้เสริมหรือแทนที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ใช้แพลตฟอร์มวัสดุซิลิกอนซึ่งมีขีดจำกัดมากในการพัฒนาต่อไป วิธีแก้ปัญหาคือหาวัสดุใหม่ที่มีความสามารถสูงกว่าสารกึ่งตัวนำแบบดั้งเดิม การวิจัยนี้ได้ประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการศึกษาสมบัติพิเศษของวัสดุขั้นสูงสำหรับใช้ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ โดยทำการวิจัยในวัสดุ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโลหะออกไซด์และโลหะแชลโคจิไนด์ และกลุ่มวัสดุคาร์บอน การค้นพบครั้งนี้เป็นความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลกระทบเชิงวิชาการสูง ซึ่งดูจากแนวโน้มการอ้างอิงและการที่ผลงานได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารที่มีค่า Impact Factor สูง (ค่า Impact Factor รวมของ 4 บทความ มีค่าประมาณ 78) ในระยะยาวคาดว่าความรู้ที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ อาทิ spintronics และ valleytronics รวมไปถึงระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้รางวัลระดับดีเด่นได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 300,000 บาท
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง สุตะพันธ์ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. และคณะ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2560 ระดับดีเด่น (สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์) จากผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง “เครื่องเอสพีอาร์แบบภาพและระบบฟลูอิดิกแบบหลายช่องวัด” โดยสามารถใช้สร้างเซนเซอร์อาร์เรย์สูงสุด 8x8 จุดวัด มีระบบจ่ายสารตัวอย่างแบบอัตโนมัติ และโฟลว์เซลล์มีจำนวนช่องไหลมากที่สุด สามารถใช้ทดสอบสารตัวอย่างพร้อมกันได้สูงสุด 8 สารตัวอย่างต่อเซนเซอร์ชิพ เหมาะสำหรับใช้ในการออกแบบและสร้าง Biosensor arrays (Protein sensor array หรือ DNA sensor arrays) รวมทั้งการศึกษาด้าน Biomolecular interaction analysis แบบ High throughput ของคู่โมเลกุลอื่น ๆ ปัจจุบันเครื่องมือนี้ได้ติดตั้งและใช้งานที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จำนวน 3 เครื่อง เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา Sensor surfaces ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยด้านการพัฒนาพื้นผิวสำหรับใช้ในไบโอเซนเซอร์ และการพัฒนาไบโอเซนเซอร์อาร์เรย์สำหรับใช้งานทางการแพทย์และการเกษตร ที่มีศักยภาพนำไปใช้งานจริง นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องมือหลักในการศึกษาวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขา Surface Chemistry/Sensor Surfaces/Biosensors ทำให้มีจำนวนบัณฑิตระดับปริญญาเอกที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รางวัลระดับดีเด่นได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 500,000 บาท
ดร.ธนชาติ เอกนภากุล นักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2559 ระดับดี (สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์) จากวิทยานิพนธ์ เรื่อง "โครงสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์สองมิติบนพื้นผิววัสดุโลหะทรานซิซันไดแชลโคเจไนด์ โดยเทคนิคโฟโตอิมิชชันสเปกโทสโกปี" ซึ่งผลการศึกษาสามารถอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ได้แก่ 1) ช่องว่างของออกซิเจน การสะสมของอิเล็กตรอนบนพื้นผิวและสมบัติการมีขั้ว/ไม่มีขั้วเป็นปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับการเกิดโครงสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์สองมิติบนวัสดุโลหะทรานซิชันออกไซด์ เช่น สตรอนเทียมไททาเนต และ โพแทสเซียมแทนทาเลต ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสร้างและควบคุมสมบัติของแก๊สอิเล็กตรอนสองมิติและการประยุกต์เกี่ยวกับเซนเซอร์แสง 2) กลวิธีใหม่ในการเตรียมวัสดุแบบผิวชั้นเดียวขนาดใหญ่ โดยการสอดแทรกของโพแทสเซียมเข้าไปในพื้นผิวของวัสดุโมลิบดีนัมไดซัลไฟด์ แถบตัวนำสองมิติได้ถูกทำให้ปรากฏขึ้นและอยู่ที่โมเมนตัมใกล้เคียงมากกับแถบวาเลนซ์ กล่าวได้ว่าวัสดุมีการเปลี่ยนแปลงจากประเภทช่องว่างแถบพลังงานแบบไม่ตรงเป็นประเภทช่องว่างแถบพลังงานแบบตรง งานวิจัยชิ้นนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงงานวิจัย วิชาการ และเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้รางวัลระดับดีได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท
ส่วนประชาสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
2 กุมภาพันธ์ 2560
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- ขอแสดงความยินดีกับ นายมงคล ตรีกิจจานนท์ ในโอกาสได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 30 เมษายน 2568
- มทส. คว้าอันดับ 8 ร่วม มหาวิทยาลัยไทย ใน THE Asia University Rankings 2025 ตอกย้ำความก้าวหน้าในระดับนานาชาติ ทั้งด้านวิจัย การสอน และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม 24 เมษายน 2568
- มทส. จัดงานเชิดชูเกียรติและขอบคุณ ผู้เข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และผู้รับเข็มกิตติการทองคำ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566 25 มีนาคม 2568
- พระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และเข็มกิตติการทองคำ 25 มีนาคม 2568
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มทส. 25 มีนาคม 2568
- มทส. รับรางวัล “อาจารย์” และ “สถาบัน” ต้นแบบด้านการสอน รางวัลเกียรติยศระดับชาติ จาก ควอท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 21 มีนาคม 2568
- อธิการบดี มทส. ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าเคมี จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี 2568 20 มีนาคม 2568
- มทส. ร่วมกับ สมาคมวัสดุประเทศไทย แถลงประกาศผลรางวัล “รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ ประจำปี 2567” และการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านวัสดุศาสตร์ MRS-Thailand 2025 10 มีนาคม 2568
- ขอแสดงความยินดีอาจารย์ มทส. รับทุนวิจัย มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย (TTSF) 07 มีนาคม 2568
- มทส. ติดอันดับ 9 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำโลก โดย SCImago Institutions Rankings 2025 06 มีนาคม 2568