นักวิจัย มทส. ร่วมกับ ARDA อวดโฉม “เครื่องสแกนทุเรียน” นำร่องใช้งานจริงครั้งแรกกลางล้งเมืองจันท์

นักวิจัย มทส. ร่วมกับ ARDA
อวดโฉม “เครื่องสแกนทุเรียน” นำร่องใช้งานจริงครั้งแรกกลางล้งเมืองจันท์
 
 
 
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA  จัดกิจกรรม “เปิดเทคโนโลยีเกษตรจาก ARDA เพิ่มผลผลิตคุณภาพอย่างยั่งยืน”  “ARDA’s Agricultural Innovations to Enhance Sustainable Quality Production” ระหว่างวันที่ 15–16 พฤษภาคม 2568 โดยมี นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เป็นประธานนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจันทบุรีเยี่ยมชมนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก ARDA  ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. นำคณะวิจัยเข้าดำเนินการติดตั้ง และอวดโฉม “เครื่องสแกนทุเรียน” นวัตกรรมที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการผลไม้ไทย ใช้เทคโนโลยีคัดเนื้อในทุเรียนคุณภาพรู้ผลใน 3 วินาที นำร่องใช้งานจริงครั้งแรกในล้งทุเรียนจังหวัดจันทบุรี
 
 
 
 
เครื่อง CT-Scan ทุเรียน จุดเปลี่ยนยกระดับมาตรฐานทุเรียนไทย ตรวจทุเรียนอ่อน - แก่ - หนอน  แม่นยำ 95% รู้ผลใน 3 วินาที โชว์ Kickoff ใช้งานจริงในล้งทุเรียนครั้งแรกของประเทศ  
 
 
 
 
นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร  กล่าวว่า ปัจจุบันถึงแม้ประเทศไทยจะยังเป็น “ราชาแห่งทุเรียน” ส่งออกมากกว่า 800,000 ตันต่อปี สร้างรายได้กว่า 150,000 ล้านบาท แต่คำถามสำคัญคือ “เราจะรักษาตำแหน่งนี้ได้นานแค่ไหน?” เมื่อปัญหาทุเรียนอ่อน หนอนเจาะเมล็ด และเนื้อตกเกรด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีน ARDA จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อดำเนินโครงการ “การออกแบบเครื่องคัดแยกความอ่อน-แก่ และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยเทคนิค CT-Scan ร่วมกับการประมวลผลผ่านโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก” โดยมี รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ โดยนำเครื่อง CT-Scan ตกรุ่นปลดระวางจากบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านเครื่องมือแพทย์ มาพัฒนาเป็นเครื่องต้นแบบสำหรับตรวจสอบความอ่อน - แก่ และหนอนในทุเรียนได้อย่างชัดเจนด้วยเทคนิค CT-Scan ที่สามารถสแกนภาพทุเรียนด้วยความละเอียดสูง โดยแต่ละเฟรมจะแสดงค่า CT-Numbers ที่บ่งบอกถึงความหนาแน่นของเนื้อทุเรียน ทำให้ตรวจสอบคุณภาพภายในผลทุเรียนโดยไม่ต้องผ่าและใช้เวลาสแกนเพียง 3 วินาที หรือ 1,200 ลูก/ชั่วโมง และด้วยระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นเฉพาะให้ทำงานร่วมกันจะช่วยประมวลผลแยกความอ่อน–แก่ ตรวจหาหนอน ได้แม่นยำถึง 95% รวมถึงสามารถตรวจพบเนื้อที่มีความผิดปกติ เช่น เนื้อเต่าเผา เนื้อลายเสือ เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้ทุเรียนไทย 100 % ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับได้ ปัจจุบันเครื่องสแกนทุเรียนได้ผ่านการทดสอบจากห้องทดลองเรียบร้อยแล้ว ในวันนี้ทาง ARDA และคณะวิจัยฯ ได้นำเครื่องดังกล่าวมาติดตั้งและนำร่องใช้เป็นครั้งแรกในล้งทุเรียนบริษัท เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  ต. สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี 
 
 
 
รศ. ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า “ทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษา คณาจารย์สังกัดสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. ได้ศึกษาวิจัยคิดค้นนวัตรรมภายใต้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามความเชี่ยวชาญ โดยนำปัญหาและความต้องการพัฒนาของประเทศมาเป็นโจทย์งานวิจัย ซึ่งประเทศไทยได้พัฒนามาสู่อุตสาหกรรมการเกษตร มีการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายเป็นอันดับต้นของโลก  ที่สำคัญคณะนักวิจัยได้พยายามนำองค์ความรู้ที่มีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำวัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ภายในประเทศมาปรับใช้ให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนการนำเข้า และหลายผลงานนวัตกรรมสามารถผลิตขึ้นได้เองภายในประเทศ ช่วยลดการขาดดุลทางการค้าได้อย่างมหาศาล และที่สำคัญได้พัฒนาฝีมือสร้างผลงานนวัตกรรมที่เป็นของคนไทย จะเห็นได้จากงานวิจัยนวัตกรรมหลายผลงานที่ผ่านมาได้มีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป อาทิ เครื่องฆ่ามอดข้าว  เครื่องไล่แมลงศัตรูพืชด้วยคลื่นวิทยุ  เครื่องผลิตปุ๋ยยูเรียหรือสารไนเตรทจากอากาศในธรรมชาติ  ต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)  เป็นต้น
 
ภาพกิจกรรม : https://www.facebook.com/share/p/197pbkNNfM/

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง