สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรม เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  
ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรม  เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)
 
 
 
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ณ อาคารสุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทอดพระเนตรนิทรรศการ “เครื่องลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)” ผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดย รศ.ดร. ชาญชัย ทองโสภา ผศ.ดร. สำราญ  สันทาลุนัย  และผศ.ดร. ธนเสฏฐ์  ทศดีกรพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. เข้าถวายรายงาน
 
 
 
 
“เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)”  ได้แนวคิดและพัฒนานวัตกรรม จากสภาพแวดล้อมทางอากาศในปัจจุบันเต็มไปด้วยมลพิษ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งฝุ่นละอองและควันไอเสียจากยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาในขณะนี้  มีหลักการทำงานของเครื่องคือ การสร้างสนามไฟฟ้าสถิตที่มีขั้วไฟฟ้าที่แตกต่างกันขึ้นมา ระหว่างควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์กับแผ่นเพลทโลหะ ทำให้ควันมลพิษ PM 2.5 ถูกดูดมาติดที่แผ่นเพลทโลหะ ทั้งนี้ จากการทดสอบค่าควันมลพิษ PM 2.5 ที่ปล่อยจากท่อไอเสียรถตู้ดีเซลขนาดเครื่องยนต์ 2800 ซีซี  อายุใช้งานประมาณ 5 ปี เมื่อติดเครื่องยนต์มีค่าอยู่ที่ประมาณ 2,200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เมื่อทำการเปิดเครื่องพลาสมาไอออน พบว่าค่าลดลงมาเหลือประมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  จากนั้นปิดเครื่องพลาสมาไอออน พบว่าค่าเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดิม และเมื่อดับเครื่องยนต์ ค่ากลับมาอยู่ที่ 0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แสดงผลได้ว่าเครื่องพลาสมาไอออนช่วยลดค่าควันมลพิษ PM 2.5 ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเครื่องนี้จะติดตั้งต่อโดยตรงที่ท่อไอเสียหรือแทนที่ท่อพักของไอเสียรถยนต์ จึงไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ มีราคาถูก สะดวก ดูแลรักษาง่าย ถอดไส้กรองล้างทำความสะอาดได้ตลอดเวลา 
 
 
 
นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคอุตสาหกรรมด้านการขนส่งและด้านยานยนต์ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทาง Sustainable Development Goals หรือ SDGs ช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองใหญ่ให้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน และเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม
 
-----------------------
 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง