สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร รัฐสีมาคุณากร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร “รัฐสีมาคุณากร”
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 
 
 
วันนี้ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๒๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจเปิดอาคาร “รัฐสีมาคุณากร” โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รองศาสตราจารย์อนันต์ ทองระอา อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
 
 
 
 
 
ทรงพระราชทานพระราชวโรกาสเบิก ศาสตราจารย์สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับอาคารรัฐสีมาคุณากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และทอดพระเนตรสื่อดิจิทัลแสดงแบบจำลองอาคาร และการใช้ประโยชน์ภายในอาคารรัฐสีมาคุณากร  และศาสตราจารย์สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับโครงการแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และทอดพระเนตรสื่อดิจิทัลแสดงแบบจำลองพื้นที่อุทยานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และนวัตกรรม และผลการดำเนินงาน ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และเบิกผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานเข็มที่ระลึก จำนวน ๗ ราย ตามลำดับต่อไป
 
 
 
 
 
อาคารปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลหลังนี้ ได้มีการวางศิลาฤกษ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๖๒  มีรองศาสตราจารย์วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี ในสมัยนั้น  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคารว่า “รัฐสีมาคุณากร” มีความหมายว่า “อาคารของผู้สร้างคุณความดีแก่แผ่นดิน อันเป็นจุดมุ่งหมายให้บัณฑิตที่ได้ศึกษาเล่าเรียนไปจากอาคารแห่งนี้ เป็นผู้ที่จะสร้างคุณความดีแก่ประเทศชาติ” และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ชื่ออาคารด้วย 
 
 
 
“อาคารรัฐสีมาคุณากร”  เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๕ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น ๓๙,๖๑๐ ตารางเมตร ได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อการก่อสร้างจำนวนเงิน ๔๖๙ ล้านบาท เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบให้มีรูปร่างอาคารที่ให้แสงและลมธรรมชาติช่วยให้อาคารลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ ออกแบบอาคารโดยคำนึงถึงการใช้งานและยังนำเทคโนโลยีระบบบริหารจัดการอาคาร เพื่อมาช่วยจัดการดูแลระบบต่าง ๆ ภายในอาคาร ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น  เป็นอาคารศูนย์รวมสำหรับสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัล และรองรับด้านการเรียนการสอน เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวนโยบาย “รวมบริการ ประสานภารกิจ” อาทิ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนแบบ Smart Classroom ขนาด ๙๐ ที่นั่ง  ๒๐๐ ที่นั่ง และ ขนาด ๔๐๐ ที่นั่ง พื้นที่ Learning Space ให้บริการครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย ผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน โดยอาคารรัฐสีมาคุณากร สร้างขึ้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีระบบเทคโนโลยีด้านดิจิทัลที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพสูงในการให้บริการแก่นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกลุ่มรายวิชา สำนักวิชาศาสตร์และศิลป์ดิจิทัล ผู้ใช้บริการ สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้จากทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย    มีความปลอดภัย ทันสมัย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อรองรับการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน (Innovation and Sustainable University)”
 
 
 
จากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารรัฐสีมาคุณากร เสด็จขึ้นชั้น ๓  เข้าห้องสตูดิโอทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ทรงประทับพระราชอาสน์  ทอดพระเนตรนิทรรศการ ทอดพระเนตรนิทรรศการผ่านสื่อวีดิทัศน์ ประกอบการบรรยาย ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย  ประกอบด้วย ด้าน SUTSDGs: ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ เรื่องที่ ๑ โครงการวิจัยวัสดุนาโนขั้นสูงสำหรับส่งเสริมพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่มรดกโลกผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่  เรื่องที่ ๒ จากทรัพยากรธรรมชาติสู่การใช้ประโยชน์ในวัฒนธรรมไทย – ยวน  เรื่องที่ ๓ เทคโนโลยีกล้าเชื้อและการผลิตสารชีวภาพมูลค่าสูงจากวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมอาหาร   เรื่องที่ ๔  นวัตกรรมเข็มขัดเพิ่มพลังปอด (Breath Belt) เรื่องที่ ๕ แบบจำลองเครปส์สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (CREPES Model for LLL)  เรื่องที่ ๖ การรักษามะเร็งด้วยลำอนุภาค  เรื่องที่ ๗ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการสื่อสถานการณ์โควิด เรื่องที่ ๘ ชุดตรวจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เรื่องที่ ๙ ระบบอัจฉริยะสำหรับดูลผู้ป่วยจิตเวช เรื่องที่ ๑๐ การพัฒนากล้องถ่ายภาพจอตาสามมิติเพื่อการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในระยะต้น   เรื่องที่ ๑๑  สู่โลกยุคควอนตัมเทคโนโลยี และการเตรียมความพร้อมของไทย
 
 
 
 
 
ทรงทอดพระเนตรผลงานมหาวิทยาลัย ด้านพัฒนาการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งในการนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี น้อมเกล้า ฯ ถวาย “เครื่องผลิตปุ๋ยยูเรียหรือสารไนเตรทจากอากาศในธรรมชาติ” เพื่อทรงใช้ประโยชน์ตามพระราชอัธยาศัยต่อไป  โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สำราญ สันทาลุนัย อาจารย์ประสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ กราบบังคมทูลรายงาน “เครื่องผลิตปุ๋ยยูเรียหรือสารไนเตรทจากอากาศในธรรมชาติ” เกิดจากแนวคิดในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดการนำเข้าปุ๋ยทางการเกษตรจากต่างประทศ ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าหลายหมื่นล้านบาท โดยการดึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศมาผลิตเป็นปุ๋ยน้ำ โดยใช้หลักการอาร์คพลาสมา Plasma activate water (PAW) ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้แบ่งขั้นตอนการศึกษาวิจัยออกเป็น ๒ ส่วน ประกอบด้วย การสร้างเครื่องต้นแบบในการผลิตปุ๋ยยูเรียหรือสารไนเตรทจากอากาศในธรรมชาติ เพื่อหาความสัมพันธ์ในการปรับเปลี่ยนพลังงานพลาสมาต่อปริมาณปุ๋ยยูเรียหรือสารไนเตรท  และศึกษาวิเคราะห์การเจริญเติบโตในพืช หลังจากการใช้ปุ๋ยยูเรียหรือสารไนเตรท เปรียบเทียบอัตราการเจริญเติบโตในพืช กับการปลูกพืชปกติไม่ใช้ปุ๋ย โดยมี ผศ. ดร.อารักษ์ ธีรอำพน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมการวิจัย 
 
ในส่วนแรก ทีมวิจัยได้ออกแบบสร้างวงจรไฟฟ้าแรงดันสูงที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเครื่องผลิตปุ๋ยยูเรียหรือสารไนเตรทโดยใช้หลักการอาร์คพลาสมา Plasma activate water (PAW) โดยสร้างขั้วอิเล็กโตรดปล่อยแรงดันไฟฟ้าแบบปลายแหลมกับแผ่นกราวอะลูมิเนียม จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พลังงานการยึดเหนี่ยวกันระหว่างโมเลกุลของน้ำ (H2O) พร้อมกับการดึงไนโตรเจนและออกซิเจนในอากาศ ที่มีอยู่ประมาณ ๗๘ % และ ๒๑% ตามลำดับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีใหม่ เป็นไนเตรต (NO3-)  และไนไตรต์ (NO2-) หรือปุ๋ยน้ำ โดยสารไนเตรทก็คือรูปของธาตุไนโตรเจนที่พืชต้องการสำหรับการเติบโต ทั้งนี้ ทีมวิจัย สามารถสร้างเครื่องต้นแบบผลิตปุ๋ยยูเรียหรือสารไนเตรทจากอากาศในธรรมชาติ ขนาด ๖ โมดูล กำลัง ๑,๒๐๐ วัตต์ โดยใช้งบประมาณ ๓.๕ แสนบาท มีกำลังการผลิตปุ๋ยน้ำขนาด ๕-๑๐ ลิตรต่อชั่วโมง สามารถผลิตปุ๋ยได้ ๒๔ ชั่วโมง คิดเป็นต้นทุนการผลิตเพียง ๕๐ สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น สามารถคืนทุนได้ภายใน ๒ ปี ช่วยให้สามารถประหยัดงบประมาณการใช้ปุ๋ยยูเรียได้มาก และยังสามารถขยายโมดูลเพื่อรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้ตามความต้องการของเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ หรือสถานประกอบการ 
 
สำหรับการศึกษาวิเคราะห์การเจริญเติบโตในพืช โดยการ นำน้ำที่ได้จากเครื่องผลิตปุ๋ยยูเรียหรือสารไนเตรทจากอากาศในธรรมชาติไปตรวจสอบ พบว่าน้ำเปล่าที่ผ่านกระบวนการ PAW มีปริมาณไนเตรทเพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่า โดยค่าไนเตรทเพิ่มจาก ๖ เป็น 25 ppm ส่วนค่าเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ๒.๘ เท่า โดยมีค่าเพิ่มจาก ๒๑ เป็น 60 µS/cm และมีค่า pH ลดต่ำลงเท่ากับ ๔.๒ และจากการทดสอบในต้นกล้าข้าวโพด และต้นกล้าสลัด โดยการรดด้วยน้ำที่ผ่านจากกระบวนการ PAW เป็นเวลา ๑๐ วัน พบว่า พืชทั้ง ๒ ชนิด มีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่สูงกว่าน้ำที่ไม่ผ่าน กระบวนการ PAW เช่นเดียวกับการนำต้นกล้าสลัดอายุ ๑๔ วัน ทดสอบด้วยการฉีดพ่นที่ใบเป็นเวลา ๙ วัน พบว่าต้นกล้าสลัดที่ฉีดพ่นด้วยน้ำที่ผ่านกระบวนการ PAW มีขนาดพื้นที่ใบมากกว่าน้ำที่ไม่ผ่านกระบวนการ PAW ทั้งนี้ สามารถสรุปได้ว่าน้ำที่ผ่านกระบวนการ PAW นั้นมีการเกิดธาตุอาหารไนโตรเจนของพืชจริง ค่ามาตรฐานใกล้เคียงกับมาตรฐานโลก และสามารถใช้น้ำที่ผ่านกระบวนการ PAW เป็นธาตุอาหารเสริมในพืชได้อีกทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
 
 
 
 
ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ ร่วมกับผู้บริหาร คณะกรรมการ ฯ นักวิจัย คณาจารย์ พนักงาน ทรงลงพระนามาภิไธยพิธีเปิดอาคารรัฐสีมาคุณากร พระราชทานวโรกาสให้ อาจารย์ ดร. สรชัย กมลลิ้มสกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม และเทคโนโลยีการศึกษา ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือภาพเคลื่อนไหว ๓ มิติ เทคโนโลยีความจริงเสริม “แม่ไม้มวยโคราช” ดร.สิริลักษณ์ ตะนัง หัวหน้าฝ่ายสำนักงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อพ.สธ.-มทส.) ทูลเกล้าฯ ถวาย “ผ้าคลุมไหล่ไหมย้อมสีธรรมชาติจากใบไผ่ ทอด้วยลายจินดาหลาประยุกต์” นางนิ่มนวล เชิดชู ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองกก ทูลเกล้าฯ ถวาย “ผ้าซิ่นไทยวนประยุกต์ ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ทอด้วยกระตุกมือ” และ นายสุรินทร์ สนธิระติ ศิลปินทูลเกล้าฯ ถวาย ภาพพระฉายาสาทิสลักษณ์ 
 
 
 
จากนั้น   เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครราชสีมา) ต่อไป 
 
 
------------------
 
ส่วนประชาสัมพันธ์
๒๔ เมษายน ๒๕๖๖

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง