มทส. รับรางวัลการประเมินโครงการการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ระดับประเทศ ประจำปี 2563 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ระดับทอง

มทส. รับรางวัลการประเมินโครงการการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ระดับประเทศ ประจำปี 2563 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ระดับทอง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย รศ.ดร.อติชาต วงศ์กอบลาภ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ พร้อมด้วย  ดร.ภานุวัฒน์ กิตติกรวรานนท์ รัตนพิมลพลแสน งานกิจกรรมนักศึกษา (ผู้แทนอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม) และนักศึกษาชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม มทส.  เข้าร่วมรับรางวัลการประเมินโครงการการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ระดับประเทศ ประจำปี 2563 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ระดับทอง  ในวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
.
 ทั้งนี้ ผลการดำเนินการโครงการ Green Youth ประจำปี 2563 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาตัดสินประเมินโครงการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม Green Youth โดยมีมหาวิทยาลัยที่ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งสิ้นจำนวน 52 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลมาตรฐานระดับทอง (ดีเยี่ยม) มีจำนวน 12 แห่ง ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 3. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 4. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 5. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ 6.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 8. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 9. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 10. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 11. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลมาตรฐานระดับเงิน (ดีมาก) มีจำนวน 16 แห่ง ได้รับมาตรฐานระดับทองแดง (ดี) มีจำนวน 24 แห่ง
 
 
.
 โครงการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย หรือ Green Youth ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นให้เกิดการดำเนินกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อม และให้การหนุนเสริมการทำงานของเยาวชนผ่านทางชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือชมรมด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัย โดยปีนี้มีการประเมินโครงการ Green Youth ใน 4 ด้าน ได้แก่ การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการจัดการพลังงาน ซึ่งโครงการที่ผ่านการประเมินจะต้องเป็นโครงการที่มีผลงานชัดเจน เป็นรูปธรรม ได้ผลลัพธ์ที่ดีมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาขยายผลหรือเผยแพร่สู่สาธารณชนได้   อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้ ซึมซับ และปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต โดยเน้นการลงมือปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและขยายผลไปยังชุมชน สังคมโดยรอบ และช่วยยกระดับแนวทางการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย นำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ Green University ในระดับสากลต่อไป
 
 
ขอบคุณเนื้อหาข่าว : 
https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_6966744

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง