มทส. ผลิตเครื่องกำจัดและกรองอากาศ ด้วยระบบพลาสมาและเครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูง อบกำจัดเชื้อในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่

ศูนย์บรรณสาร

มทส. ผลิตเครื่องกำจัดและกรองอากาศ ด้วยระบบพลาสมาและเครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูง
อบกำจัดเชื้อในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
เตรียมส่งมอบให้ รพ.รามาธิบดี และ รพ.วชิระ เพื่อรับมือสถานการณ์วิกฤติ COVID-19

 

     มทส. แถลงผลงานวิจัยเครื่องกำจัดและกรองอากาศด้วยระบบพลาสมาเพื่อกำจัดเชื้อในอากาศ ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงเพื่ออบกำจัดเชื้อไวรัสในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่เป็นผลสำเร็จ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน สามารถปรับขนาดและรูปทรงที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและการใช้งานในพื้นที่จริง มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลด  ความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ เตรียมส่งมอบให้โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลวชิระเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) เตรียมนำเทคโนโลยีไปขยายผลและผลิตเพื่อมอบให้โรงพยาบาลและสังคม

 

 

     วันนี้ (23 เมษายน 2563) รศ. ร.อ. ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานในการแถลงข่าวผลงานวิจัยเครื่องกำจัดและกรองอากาศด้วยระบบพลาสมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงเพื่ออบกำจัดเชื้อไวรัสในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ณ อาคารเครื่องมือ 3 ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. โดยมี รศ. ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มทส. รศ. ดร.สุรพันธ์ ยิ้มมั่น คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ พล.ต. ดร.ภาณุพงศ์ สุวัณณุสส์ ผู้บัญชาการโรงเรียนช่างฝีมือทหาร สังกัดสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมแถลงข่าวผลงานวิจัยและความร่วมมือ

 

     รศ. ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มทส. ผู้พัฒนาผลงานวิจัยต้นแบบ เปิดเผยว่า “ผลงานการพัฒนานวัตกรรมทั้งสองชิ้น สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องรับมือกับภาวะวิกฤติ COVID-19 ในฐานะนักวิจัยจะพัฒนาอุปกรณ์เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อของผู้ป่วยสู่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใช้บริการในสถานพยาบาล และในที่ชุมชนหนาแน่น จึงได้พัฒนาผลงานวิจัยจำนวน 2 เครื่อง ได้แก่ เครื่องกำจัดและกรองอากาศด้วยระบบพลาสมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และ เครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงเพื่ออบกำจัดเชื้อไวรัสในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ โดยทั้งสองเครื่องมีระบบการทำงานดังนี้

 

     เครื่องกำจัดและกรองอากาศด้วยระบบพลาสมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส (Plasma air purifier system for controlling virus outbreak) เป็นการออกแบบเพื่อสร้างเครื่องกำจัดเชื้อไวรัสในอากาศและตัวกรองอากาศทดแทนการใช้ตัวกรองอากาศแบบ HEPA filter ด้วยระบบพลาสมา เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสในอากาศด้วยระบบพลาสมานั้นจะทำหน้าที่ในการดูดอากาศโดยรอบจากด้านบนของตัวเครื่อง ในระยะหวังผลประมาณ 15 เมตร หรือเทียบเท่ากับปริมาณอากาศที่ 300 ลูกบาศก์เมตร/นาที ผ่านเข้ามาในชุดกำเนิดพลาสมา ทั้งนี้ เชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสที่รวมมากับอากาศจะถูกกำจัดออกไป และเครื่องจะส่งอากาศบริสุทธิ์ที่ดีออกทางด้านล่างของตัวเครื่องแทน ซึ่งอากาศที่ถูกปล่อยออกมาจะมีความปลอดภัยต่อมนุษย์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน โดยเครื่องที่ออกแบบในครั้งนี้ มีขนาด กว้าง 0.6 X 1.2 X 2.5 เมตร มีกำลังงานไฟฟ้าที่ 500 W มีต้นทุนค่าใช้ไฟฟ้าเพียงชั่วโมงละ 2 บาท ส่วนตัวกรองอากาศแบบพลาสม่าที่ออกแบบใช้ทดแทนกรองอากาศแบบ HEPA filter ซึ่งเป็นการกรองอากาศที่ต้องใช้แผ่นกรองในการดักจับอนุภาคขนาดเล็กในอากาศ แผ่นกรองอากาศในลักษณะนี้จะต้องมีการทำความสะอาดทุก ๆ เดือน เนื่องจากการสะสมของฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่เข้าไป ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานนั้นลดลงและจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนในทุก ๆ ปี อีกทั้งยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณและการบำรุงรักษา รวมถึงปัญหาการทิ้งทำลายที่ต้องอยู่ในการควบคุมทางสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถออกแบบให้อุปมีขนาดและรูปทรงที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและการใช้งานในพื้นที่จริงได้อีกด้วย เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สนามบิน สถานีขนส่ง รวมถึงสถานที่ชุมชนแออัด เป็นต้น

 

      เครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงเพื่ออบกำจัดเชื้อไวรัสในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ (High power ozone generator for disinfecting large medical supplies and equipment) เป็นการออกแบบสร้างเครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสสำหรับชุดและอุปกรณ์สวมใส่ รวมถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ เช่น ชุดกาวน์ หน้ากาก หมวก รองเท้า เตียงนอนและรถเข็น เป็นต้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่ของโรงพยาบาลหรือที่อื่น ๆ ระบบมีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อไวรัส ปลอดภัย ลดระยะเวลาในการฆ่าเชื้อโรคและประหยัดงบประมาณในการนำเข้า สามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและการสะสมของเชื้อไวรัสได้

     โดยเครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงที่ออกแบบมาในครั้งนี้มีขนาด กว้าง 0.9 X 1 X 0.5 เมตร สามารถผลิตก๊าซโอโซน (O3) ได้สูงสุดที่ 100g/ชม. กำลังงานโดยรวมเท่ากับ 1.5KW มีรูปแบบในการทำงานที่สำคัญคือ เป็นเครื่องที่ผลิตก๊าซโอโซนจากอากาศหรือจากก๊าซออกซิเจน 100 % (O2) โดยตรง โดยอากาศจะถูกดูดเข้ามาในชุดผลิตก๊าซโอโซน ซึ่งจะใช้วงจรแบบ Corona Discharge ซึ่งถือว่าเป็นวงจรที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ทำให้ได้ปริมาณก๊าซโอโซนในปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วและประหยัดพลังงานสูงสุด มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพียงชั่วโมงละ 5 บาท มีระบบการระบายความร้อนด้วยน้ำ และระบบป้องกันไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ สามารถปรับขนาดกำลังงานได้ตามขนาดของพื้นที่ในการใช้งาน เคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะสำหรับการใช้อบกำจัดเชื้อโรคภายในห้องผู้ป่วย และการอบกำจัดเชื้อโรคที่เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ อาทิ เตียงและเก้าอี้ผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้ ระยะเวลาในการอบกำจัดเชื้อไวรัส ตามมาตราฐานของ FDA (USA) กำหนดไว้ที่ 1.5 ppm เป็นเวลา 4 นาที ถ้าขนาดห้องผู้ป่วยหรือห้องที่ต้องใช้อบฆ่าเชื้อ มีขนาดพื้นที่เท่ากับ 125 ลูกบาศก์เมตร ก๊าซโอโซนที่ได้จากการอัดอากาศที่100 ลิตร/นาที จะใช้เวลาเพียง 2 นาที ในการผลิตก๊าซโอโซนให้ได้ค่ามาตราฐานที่ 1.5 ppm ตามที่ FDA (USA) กำหนดไว้ และถ้าใช้ก๊าซออกซิเจน 100% แทนการอัดจากอากาศทั่วไประยะเวลาในการผลิตก๊าซโอโซนจะสั้นลงอีกหลายเท่าตัว ซึ่งเครื่องยังสามารถออกแบบได้หลากหลายขนาดตามการใช้งาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

     ทั้งนี้ ได้มีความร่วมมือทำการทดสอบทางคลินิกพร้อมประเมินผลร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจะนำไปติดตั้งใช้งานจริงที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลวชิระ  โดยทีมวิจัยมีความยินดีที่จะมอบเทคโนโลยีทั้ง 2 ผลงานวิจัยให้เป็นสาธารณะประโยชน์ โดยในขณะนี้ทางโรงเรียนช่างฝีมือทหารได้เตรียมพร้อมในการที่จะนำเทคโนโลยีไปขยายผลและผลิตเพื่อมอบให้โรงพยาบาลและสังคมในลำดับต่อไป

     ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ปีติกมล คงสมัย สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โทร. 095-8145910 อีเมลล์ peetikamol.k@g.sut.ac.th ได้ทุกวันและเวลาทำการ

ภาพกิจกรรมเพิ่มเตืม  https://www.facebook.com/pg/sutnews/photos/?tab=album&album_id=3193227814023256

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

23 เมษายน 2563

film izle


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง