มทส. ปลื้ม โคราชวากิว ขึ้นโต๊ะเมนูเรียกน้ำย่อยผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC จากต้นทางสายพันธุ์คุณภาพ สู่โรงชำแหละเนื้อมาตรฐาน GMP แห่งแรกของไทย

มทส. ปลื้ม โคราชวากิว ขึ้นโต๊ะเมนูเรียกน้ำย่อยผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC

จากต้นทางสายพันธุ์คุณภาพ สู่โรงชำแหละเนื้อมาตรฐาน GMP แห่งแรกของไทย

 

          การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 APEC 2022  ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 มีผู้นำประเทศสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม ประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมได้เตรียมการต้อนรับผู้นำประเทศอย่างสมเกียรติ ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” Open. Connect. Balance. เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก  สำหรับงานเลี้ยงรับรองมื้อสำคัญตามธรรมเนียมการต้อนรับผู้นำประเทศสมาชิกในคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร นั้น รายการอาหารจากวัตถุดิบคุณภาพของไทยได้ถูกรังสรรค์ให้เป็นอาหารค่ำสำหรับผู้นำประเทศ รวมถึง “โคราชวากิว ย่างถ่านสมุนไพรจิ้มแจ่ว” หนึ่งในเมนูอาหารเรียกน้ำย่อย (Appetizers) Welcome to Thailand ซึ่งนำเสนอของดี 4 ภาค “เนื้อโคราชวากิว” ผลผลิตจากการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จึงเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบคุณภาพจากภาคอีสานของไทย ที่พร้อมประกาศให้ชาวโลกได้รับทราบถึงศักยภาพการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่หลากหลายเพื่อเชื่อมโยงแต่ละประเทศทั่วโลกผ่านวัฒนธรรมอาหาร สร้างอาชีพ สร้างสมดุลแก่กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนจากครัวไทยสู่ครัวโลก

รศ. ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มทส. ผู้พัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อ “โคราชวากิว” เปิดใจว่า “รู้สึกภูมิใจแทนเกษตรกรไทยโดยเฉพาะในพื้นที่โคราชและภาคอีสาน ที่สามารถผลิตเนื้อวัตถุดิบคุณภาพทำให้เป็นอีกเมนูที่ถูกเสิร์ฟให้ผู้นำต่างชาติที่เข้าร่วมประชุม APEC 2022  ได้มีโอกาสชิมสุดยอดเนื้ออร่อยอย่างหนึ่งของไทย ถือเป็นกำลังใจแก่เกษตรกร เป็นอีกช่องทางในการเปิดโอกาสในการส่งออกสู่ต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าเนื้อวัวให้มีราคาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

จากการพัฒนาสายพันธ์ด้วยเทคโนโลยีการย้ายตัวอ่อน กว่า 15 ปี ทำให้ได้เนื้อวัวที่นุ่มมีไขมันแทรกเป็นที่พอใจผู้บริโภค ด้วยคุณสมบัติเด่นคือมีไขมันแทรกที่ผลิตได้ตั้งแต่เกรด 5 สามารถเพิ่มขึ้นไปถึงเกรด 6 - 8 และยังพัฒนาขึ้นไปได้ถึงเกรด 10 เนื้อโคราชวากิวของ มทส. จะคล้ายกับเนื้อออสเตรเลียซึ่งเป็นวากิวลูกผสมเหมือนกันความอร่อยไม่แพ้เนื้อออสเตรเลีย เราเลี้ยงโดยเกษตรกรรายย่อยทำให้มีการดูแลอย่างทั่วถึง ขุนประณีตแบบญี่ปุ่น และมีข้อได้เปรียบคือธัญพืชที่เป็นแหล่งอาหารหลักชั้นยอด ตั้งแต่รำข้าว ปลายข้าว ข้าวโพด หรือแม้แต่กากมันสำปะหลังซึ่งมีมากในโคราชและพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ช่วยลดต้นทุนสร้างผลตอบแทนที่สูงสำหรับผู้เลี้ยง 

 

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยโดยศูนย์วิจัยฯ ยังคงพัฒนาเนื้อโคราชวากิวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้สายพันธุ์โคราชวากิว 90 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะตรวจสอบยีนส์สายพันธุ์ย้อนกลับตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง มีการประมวลผลเป็น Big Data การต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนผ่านความร่วมมือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับ มทส. เกือบ 30 วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ มีการจัดอบรมเป็นประจำปีละ 4-5  ครั้ง เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายเกษตรกร การเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างเป็นระบบเพื่อคงคุณภาพผลผลิต และถือเป็นผลสำเร็จอีกสิ่งหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้รับอนุมัติให้สร้างโรงชําแหละเนื้อ ถือว่าเป็นโรงชำแหละทันสมัยที่สุดในประเทศขณะนี้ เพื่อให้เป็นจุดปลายทางที่จะส่งมาชำแหละภายใต้มาตรฐาน GMP และถูกหลักฮาลาล พร้อมออกใบรับรองการันตีว่า เป็นเนื้อที่สะอาดปลอดภัยตามมาตรฐาน food Safety เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยที่ทำให้เกิดห่วงโซ่การผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มหาวิทยาลัยที่เป็นต้นทางพัฒนาสายพันธุ์ เกษตรกรผู้เลี้ยง ผู้ผลิตแหล่งอาหาร การมีโรงชำแหละ ผู้ประกอบการต่างๆ และสุดท้ายถึงผู้บริโภค  ถือเป็นผลสำเร็จของมหาวิทยาลัยในการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมอย่างยั่งยืน

 

------------------


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง