ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมเกษตร มทส. ร่วมมือ เมกาเชฟ ต่อยอดการวิจัยสู่เชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน

มทส. ร่วมมือ เมกาเชฟ ต่อยอดการวิจัยสู่เชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน
.
.
          วันนี้ (18 มกราคม 2565) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ บริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด โดย นายภาส นิธิปิติกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ ยงสวัสดิกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ระพี อูทเคอ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วยคณาจารย์ มทส. และคณะผู้บริหาร บริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
.
 
 
 
 
.
        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรีลักษณ์ รอดทอง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมเกษตร มทส. เผยว่า “ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมเกษตร มีความร่วมมือในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ บริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำปลาพรีเมียมและซอสปรุงรส ตราเมกาเชฟ (Megachef) ในฐานะผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการต่อยอดและพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างต่อเนื่อง มีโครงการวิจัยที่ได้เสนอขอและได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 7 โครงการ มีมูลค่ารวมกว่า 28.6 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินการวิจัยของโครงการเหล่านี้ คณะนักวิจัยและบริษัทฯ มีผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจที่สามารถเสนอขอรับทุนจากแผนงานการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaboration Research Platform) ได้ถึง 2 โครงการ ด้วยระยะเวลาดำเนินการโครงการละ 1 ปี ที่มูลค่า 6.5 ล้านบาท และ 14.6 ล้านบาท ตามลำดับ นับได้ว่าเป็นความร่วมมือที่สร้างแรงบันดาลใจให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
.
 
.
          สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อร่วมมือในการศึกษาวิจัย พัฒนางานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ พัฒนาเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อการศึกษาวิจัย รวมถึงรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ และผลิตผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ตลอดจนแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลทางวิชาการ จัดฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อพัฒนาบุคลากรของทั้งสองฝ่าย มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน นำไปสู่การบริการวิชาการ และเป็นไปตามยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับผู้ประกอบการ จากภาคอุตสาหกรรมให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง