มทส. จับมือ บริษัท ควอนตัมเทคโนโลยีฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) วิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนเทคโนโลยีควอนตัม พลิกโลกด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

มทส. จับมือ บริษัท ควอนตัมเทคโนโลยีฟาวเดชั่น (ประเทศไทย)

วิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนเทคโนโลยีควอนตัม พลิกโลกด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส.  ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ควอนตัมเทคโนโลยีฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (QTFT)  พร้อม ดร. อารียา จันทศรี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฯ ในการร่วมวิจัยและพัฒนาด้านควอนตัมเทคโนโลยี การพัฒนากำลังคนด้านฟิสิกส์ขั้นสูงเพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์  เมื่อวันที่ 2 มีนาคม  2564  ณ ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส.

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “จากความก้าวหน้าในวงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในวงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีปัจจุบัน ทั้งมีแนวโน้มเกิดการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีควอนตัมนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการก้าวกระโดดของการสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมของบริษัทใหญ่ๆ ที่กำลังพัฒนาอยู่ขณะนี้ไม่ว่าจะเป็น Google และ IBM เป็นต้น โดยใช้พื้นฐานความรู้จากฟิสิกส์ควอนตัมทั้งสิ้น ที่ผ่านมาได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในปัจจุบัน และขณะนี้อยู่ในช่วงการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติโลกของเราในอนาคต   ประเทศไทยจึงต้องมีการเตรียมพร้อมรับการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้อย่างเท่าทัน การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัท ควอนตัมเทคโนโลยีฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้าง Consortium Platform ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อพัฒนากำลังคนของประเทศไทย ให้พร้อมกับเทคโนโลยีควอนตัมที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้”

 

“แม้ความร่วมมือนี้วางรากฐานบนควอนตัมเทคโนโลยีที่ยังใหม่ในประเทศไทย  แต่ก็มีกลุ่มนักวิชาการที่รวมกลุ่มกัน สามารถทำงานวิจัยในมุมต่าง ๆ มากมายเกี่ยวข้องกับทางด้านควอนตัมเทคโนโลยี  เช่น การนำเอาควอนตัมเทคโนโลยีมาพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีสมรรถนะสูง การนำเทคโนโลยีควอนตัมไปใช้กับระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการนำไปใช้ในด้านการสื่อสาร การโทรคมนาคม และการขนส่ง เป็นต้น ความร่วมมือนี้จะทำให้นักวิชาการ สามารถเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจได้ โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม  ถือเป็นก้าวเดินของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่สำคัญอย่างมากในการที่จะนำเอานักวิชาการเข้าไปแก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป”

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. และหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า “ด้วยความเข้มแข็งด้านงานวิจัยฟิสิกส์ มทส. ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ทางด้าน Physical Science ของประแทศ และจาก Times Higher Education World Ranking ประกอบกับการมีโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั้งด้านกายภาพ และศักยภาพของกำลังคนที่มหาวิทยาลัยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสร้างเครือข่ายวิจัยฟิสิกส์ขั้นสูง ผ่านโครงการการสร้างและเสริมแกร่งระบบนิเวศแบบบูรณาการสำหรับการวิจัยทางเทคโนโลยีควอนตัมระดับประเทศ ซึ่งถือเป็นทุนวิจัยขนาดใหญ่จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมและผู้บริหาร (บพค.) ซึ่งโครงการนี้ เป็นการทำงานร่วมกันกับ 8 สถาบันทั่วประเทศ  ในการขับเคลื่อนงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมระดับประเทศ ที่ผ่านมาได้มีงานวิจัยเด่นในการสร้าง Quantum Bit (Qubit) ในเพชร ได้เป็นที่แรกของประเทศไทย โดย อ. ดร. สรวิศ แสงทวีสิน สาขาวิชาฟิสิกส์ มทส. ซึ่ง Qubit ถือเป็นส่วนสำคัญของคอมพิวเตอร์ควอนตัมในการเก็บและประมวลข้อมูลให้ทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน จากศักยภาพของทีมวิจัยที่มีจึงเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือนี้ จะเสริมสร้างการจัดการเทคโนโลยีและการวิจัยร่วมกันที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในเชิงทรัพย์สินทางปัญญา สร้างมูลค่าที่พัฒนาต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ก้าวล้ำได้ในอนาคต”

 

ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ควอนตัมเทคโนโลยีฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ควอนตัมเทคโนโลยีเป็นยุคถัดจากยุคดิจิตัล เป็นพื้นฐานของการพัฒนาทุกด้าน ปัจจุบันมีส่วนสำคัญในการนำมาใช้พัฒนาระบบ Digital Security ซึ่งหากไม่มีควอนตัมเข้ามา ระบบทุกวันนี้ก็จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป  ทั้งระบบ Banking ระบบ Block Chain หรือ IoT ต่าง ๆ สามารถถูกแฮกได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อองค์กรระดับใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน  นอกจากนี้ยังนำมาพัฒนาระบบ Computing Power แม้ปัจจุบันจะถือว่า ai เร็วและฉลาดมากแล้ว หากใช้ควอนตัม ai อาจจะฉลาดขึ้นนับพันนับหมื่นเท่า อะไรก็ขึ้นได้เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นเดียวกันโลกในอนาคตก็จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วอย่างที่เราคิดไม่ถึง แล้วควอนตัมก็จะเป็นตัว drive และขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่สำคัญ  สำหรับความพร้อมของเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทยในขณะนี้ เชื่อว่ามีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน มีผู้รู้ผู้เล่น  ทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เกือบ 100 คน ซึ่งเราสามารถใช้ความร่วมมือระหว่างทาง QTFT กับ มทส. ในการนำเอา Talent เหล่านี้มาช่วยภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้”

 

อนึ่ง บริษัท ควอนตัมเทคโนโลยีฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) หรือ QTFT นั้นนำทีมโดย ดร. จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท ดร. จิรวัฒน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้รับรางวัล Quantum Innovation Prize จาก Google ในปี ค.ศ. 2018   สำหรับวิสัยทัศน์และพันธกิจของ QTFT นั้นเป็นการสร้างสังคมแห่งนวัตกรรมและยั่งยืนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งจะผลักดันการเกิด Deep tech startup ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแก้ปัญหาในระดับสากล รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีควอนตัม 

 

ส่วนประชาสะมพันธ์

2 มีนาคม 2564

 

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง