มทส. เชิญชวนผลิตหน้ากากทางการแพทย์ ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) ส่งมอบโรงพยาบาลใกล้บ้าน ร่วมด้วยช่วยบุคลากรทางการแพทย์สู้ COVID-19 ไปด้วยกัน

มทส. เชิญชวนผลิตหน้ากากทางการแพทย์ ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer)

ส่งมอบโรงพยาบาลใกล้บ้าน ร่วมด้วยช่วยบุคลากรทางการแพทย์สู้ COVID-19 ไปด้วยกัน

 

         “จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงภาวะวิกฤติของประเทศไทยและทั่วโลก  ซึ่งต้องการความร่วมมือร่วมใจควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มข้นทุกวงการ” คณะทำงานในกลุ่ม Line: TheMaker@SUT  ซึ่งเป็นทีมงานที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ คณาจารย์ และ ศิษย์เก่า มทส ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Line TheMaker@SUT ได้ออกมาเชิญชวนให้ผู้มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ออกมาช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งรับภาระหนักมากในการเป็นด่านแรกของการคัดกรองตรวจรักษาเชื้อไวรัสดังกล่าว

 

     ทั้งนี้ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและกำลังขาดแคลนอย่างหนัก เช่น หน้ากากอนามัย และหน้ากากที่มีแผ่นกระบังป้องกันใบหน้า หรือ Face Shield Mask ทางกลุ่ม TheMaker@SUT จึงได้ทำการผลิตหน้ากากชนิด Face Shield Mark โดยการขึ้นรูปตัวโครงหน้ากาก ด้วยเครื่องพิมพ์แบบสามมิติ จากวัสดุพิมพ์ชนิด PET-g PLA  หรือ ABS ซึ่งสามารถดาว์โหลดไฟล์สำหรับการผลิตได้จากเว็บไซต์ https://www. Prusaprinters .orprints/25857-protective-face-shield-rc1/files การประยุกต์ใช้แผ่นพลาสติกใสมาใช้ผลิตในส่วนที่เป็นแผ่นกระบังป้องกันใบหน้าจากสารคัดหลั่ง ระหว่างการตรวจวินิจฉัยโรค Covid-19 ซึ่งในขั้นตอนการผลิตหน้าการ Face Shield ดังกล่าว มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากแม้จะใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมง ในการผลิตโครงหน้ากากจากเครื่องพิมพ์สามมิติ แต่ก็คุ้มค่า เนื่องจากได้ชิ้นงานโครงหน้ากากที่สวยงามและมีความแข็งแรง สามารถนำไปทำความสะอาดได้ตามมาตรฐานทางการแพทย์ สำหรับแผ่นพลาสติกใสป้องกันสารพุ่งกระจายจากคนไข้สู่แพทย์ สามารถประยุกต์ใช้แผ่นใสทั่วไปสำหรับการเรียนการสอนมาใช้ทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตัดแต่งเข้ารูปกับตัวโครงหน้ากากได้ง่าย แต่ถ้าหากภาคอุตสาหกรรมสามารถจัดหาแผ่นพลาสติกชนิด  PET, Acrylic หรือ PC ที่มีความหนาระหว่าง 120 -150 ไมครอน ก็จะได้หน้ากากชนิด Face Shield ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีความปลอดภัยสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์มากขึ้นไปอีก

 

  

 

 ดังนั้นทางกลุ่ม TheMaker@SUT จึงขอเชิญร่วมชวนบุคคลหรือหน่วยงานใดที่มีเครื่องเครื่องพิมพ์สามมิติไว้ใช้งาน มาร่วมจิตอาสาขึ้นรูปโครงหน้ากาก ทั้งนี้ เครื่องพิมพ์สามมิติ 1 เครื่อง สามารถผลิตเต็มที่ประมาณ 3 ชิ้นต่อวัน ส่วนแผ่นใสสามารถตัดได้อย่างง่ายดายและสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากๆ เพื่อใช้เปลี่ยนกับตัวโครงหน้าการได้อย่างไม่จำกัด ถ้าหากประชาชนร่วมมือร่วมใจกันทั่วประเทศ ก็จะได้หน้ากากชนิด Face Shield เป็นจำนวนมาก และพอเพียงสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้และรักษาผู้ป่วยจาก COVID-19 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทางกลุ่ม The Maker@SUT ซึ่งได้นำส่งชิ้นงานต้นแบบให้แพทย์ได้ทดลองใช้งาน พบว่าใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในเบื้องต้นการผลิตหน้ากากต้นแบบมีทุนเฉพาะค่าวัตถุดิบต่ำเพียงชิ้นละ 35 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการใช้เครื่องมือที่มีในห้องปฏิบัติการมาบูรณาการและใช้ทรัพยากรร่วมกันปรับใช้เพื่อลดภาวะการขาดแคลนในสถานการณ์ไม่ปกติ และเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งเพื่อฝ่าวิกฤต COVID-19 ให้มากที่สุด

 

 

       จึงร่วมขอเชิญชวนชาวไทยที่ทำงานอยู่บ้าน (Work @ Home) หรือ สำนักงานที่มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ร่วมด้วยช่วยกันพิมพ์ขึ้นรูปและประกอบหน้ากาก Face Shield เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน อย่างน้อยก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภาระแพทย์เท่าที่ทำได้ และเป็นกำลังใจในการยืนอยู่เคียงข้างต่อสู้ฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน สำหรับผู้สนใจถ้าต้องการความช่วยเหลือในด้านการผลิต โครงหน้ากากจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่  นายเมธี ประสมทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนานวัตกรรม ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา มทส.  โทร. 091-8288915  FB.com/Metee Prasomsup  Line : 40221023 โดยสามารถดาวว์โหลด CAD ไฟล์ จาก https://www.prusaprinters.org/prints/25857-protective-face-shield-rc1/files และสามารถสอบถามข้อมูลด้านแผ่นพลาสติกใส และวิธีการประกอบหน้ากาก ได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. E-mail : umsut@g.sut.ac.th , Facebook.com/Utai Meekum  และศูนย์บริการข้อมูลสำหรับนักศึกษา ผู้ปกครอง และบุคคลภายนอกเป็นกรณีเฉพาะ โทร. 0 44222 5959

ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.

26 มีนาคม 2563


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง