สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มทส.

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มทส.

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ จำนวน ๓,๖๒๘ คน

 


วันนี้ (๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอาคารสุรพัฒน์ ๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
ในการนี้ มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๓ ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษไพจิตร โรจนวานิช ปริญญาการจัดการดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทคโนโลยีการจัดการ) นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทคโนโลยีการผลิตสัตว์) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พลตรีหญิง แพทย์หญิงวณิช วรรณพฤกษ์ ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และผู้ทำคุณประโยชน์ยิ่งแก่มหาวิทยาลัยเข้ารับพระราชทานรางวัลเกียรติคุณเข็มกิตติการทองคำ ๒ ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์ปรัชญา เวสารัชช์ และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์

 

 


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ดำเนินการตามภารกิจมาเป็นปีที่ ๒๙ โดยเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งสิ้น ๑๐๐ หลักสูตร ในกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการจัดการ ภาษาอังกฤษ สาธารณสุขศาสตร์ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ สำหรับปีการศึกษา ๒๕๖๑ มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งสิ้น ๓,๖๒๘ ราย ประกอบด้วย ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้แก่ ดุษฎีบัณฑิตรุ่นที่ ๒๐ จำนวน ๗๓ ราย มหาบัณฑิตรุ่นที่ ๒๑ จำนวน ๑๗๓ ราย และบัณฑิตรุ่นที่ ๒๓ จำนวน ๒,๙๗๗ ราย ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการบินพลเรือน สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาบัณฑิตรุ่นที่ ๕ จำนวน ๒๔ ราย บัณฑิตรุ่นที่ ๑๙ จำนวน ๓๘๑ ราย ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและได้คะแนนยอดเยี่ยมสาขาวิชาต่าง ๆ เข้ารับพระราชทานเข็มทองคำ จำนวน ๓๔ ราย และผู้ได้รับรางวัลศรีปีบทอง ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักศึกษาที่มีผลงานและความสามารถดีเด่นเป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักศึกษาทั่วไป เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ จำนวน ๑ ราย

 

 

recep ivedik 6

 


ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า “...ตามที่ได้รายงานให้ทราบว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ปฏิบัติภารกิจทุกด้านเพื่อการเป็น “สถาบันคู่เคียงสังคม” โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญนั้น น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม แล้วพยายามปฏิบัติหน้าที่นั้นอย่างเต็มกำลัง ข้อนี้ นับเป็นแบบอย่างอันดีให้แก่บัณฑิตได้อย่างมากว่า ทุกคนทุกฝ่ายที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ย่อมต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เป็นผู้มีความรู้ ความคิด และความสามารถสูง ยิ่งต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบสูงกว่าคนทั่วไป ในอันที่จะเป็นทั้งกำลัง ทั้งผู้นำ ในการปฏิบัติพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ จึงขอให้บัณิตทุกคนตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตนในประการนี้ แล้วตั้งใจพยายามนำควมรู้ ความคิด และความสามารถที่มีอยู่ ไปใช้สร้างสรรค์ความดีความเจริญให้แก่ตนเองและประเทศชาติ สมกับที่ได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งถือพันธกิจต่อสังคมเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญ”

 

 


จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังอาคารสุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีขอพระราชทานพระราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องกำจัดฝุ่น PM ๒.๕ ด้วยประจุไฟฟ้าไอออนผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ โดยใช้หลักการปล่อยประจุไฟฟ้าลบ สร้างจากวงจรทวีแรงดันหลายหมื่นโวลต์ เพื่อจ่ายประจุไฟฟ้าออกไปในอากาศจับอนุภาคของฝุ่นตกลงสู่พื้น ซึ่งเครื่องต้นแบบนี้มีผลการกำจัดฝุ่น PM ๒.๕ เทียบเท่าต้นไม้ขนาดกลางที่มีพื้นที่ใบรวมประมาณ ๙ ตารางเมตร จำนวน ๕๐๐ ต้น และค่าพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณชั่วโมงละ ๑.๕๐ บาท สามารถช่วยป้องกันการกระจายของฝุ่น ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยทางเดินหายใจและเกิดภูมิแพ้ได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปสามารถขยายสู่ชุมชน สู่เมือง และระดับประเทศ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ PM ๒.๕ โดยสามารถออกแบบตัวเครื่องให้มีความเหมาะสมในแต่ละสถานที่ที่จะทำการติดตั้งต่อไป จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ไพบูลย์ จิตประเสริฐวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายชุดดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับ ๕ กลุ่มวัย ได้แก่ วัยเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และ วัยผู้สูงอายุ กลุ่มละ ๑๐๐ ชุด รวมทั้งสิ้น ๕๐๐ ชุด เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในการเลือกใช้อุปกรณ์ดูแลอนามัยช่องปากให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพตามช่วงวัยต่าง ๆ รวมถึง ผศ. ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการเทคโนธานี ทูลเกล้าฯ ถวายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจากโครงการศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพสธ.) ในโอกาสนี้ด้วย

 

 

 

 

 

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง