มทส. จับมือ PACO ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบาจากวัสดุเหลือใช้

มทส. จับมือ PACO ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบาจากวัสดุเหลือใช้
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ บริษัท ปทุมธานีคอนกรีต จำกัด (PACO) ร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบา การพัฒนาวัสดุเหลือใช้ให้เป็นสินค้าที่เกิดมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี ผู้บริหารและคณาจารย์ มทส. พร้อมด้วย นายภัทริศ คุณกิตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะผู้บริหารของบริษัท ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความก้าวหน้าของงานวิจัย มุ่งเน้นการต่อยอดงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยในการสร้าง Industry Linkage รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งความร่วมมือกับ บริษัท ปทุมธานีคอนกรีต จำกัด ด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบาในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การต่อยอดงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบา และยังเป็นแนวทางในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร ทั้งในด้านเทคโนโลยี งานวิจัย เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไป”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. เผยว่า “ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและขยายผลความก้าวหน้าของงานวิจัยที่เกิดจากคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาวัสดุเหลือใช้เป็นสินค้าที่เกิดมูลค่าเพิ่มสามารถนำไปหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรม เกิดการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้งานได้จริง นอกจากนี้ ยังร่วมกันพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาด้านการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมโยธา และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักศึกษาจะได้ไปสหกิจศึกษากับทางบริษัท ได้ฝึกปฏิบัติการกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานจริง เสริมสร้างคุณลักษณะของวิศวกรที่พึงประสงค์ตรงความต้องการของสถานประกอบการ รวมไปถึงร่วมกันพัฒนาศักยภาพบุคลากรของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการจัดฝึกอบรมความรู้ การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัย”
นายภัทริศ คุณกิตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปทุมธานีคอนกรีต จำกัด กล่าวด้วยว่า “บริษัทดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายเสาเข็มมานานกว่า 40 ปี ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตเสาเข็มกลมแรงเหวี่ยง ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.398-2537 จะมีวัสดุที่ต้องทิ้งจากการผลิตจากแรงเหวี่ยง คือ น้ำซีเมนต์มอร์ต้า (ซีเมนต์+ทราย+น้ำ) ประมาณ 16 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้ต้องหาวิธีการกำจัด เนื่องจากไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด มีบางส่วนทิ้งไว้ให้แห้งเกิดเป็นเศษของแข็งของซีเมนต์มอร์ต้าในปริมาณมาก ต้องเสียพื้นที่ในการจัดเก็บ และอาจทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศตามมาได้ จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อหาวิธีการนำน้ำซีเมนต์มอร์ต้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยสามารถสร้างมูลค่าและกำจัดของเสียด้วย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวัฒน์ สินศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (SIE-CON) มทส. กล่าวถึงความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบาว่า “โครงการวิจัยนำ Mortar Cement Waste (MCW) มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมหาวิทยาลัยส่งเสริมการแก้ไขปัญหาให้สถานประกอบการในรูปแบบการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ จากองค์ความรู้ด้านการวิจัยเกี่ยวกับคอนกรีตเซลลูล่า หรือ คอนกรีตมวลเบาแบบเติมฟองอากาศ ที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางแล้วนั้น ทางศูนย์ SIE-CON ได้ทำการทดสอบเบื้องต้น โดยนำงานวิจัยด้านคอนกรีตเซลลูล่าไปแก้ปัญหาดังกล่าว พบว่ามีแนวโน้มที่จะนำน้ำซีเมนต์มอร์ต้า ซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือจากการผลิตเสาเข็มกลมแรงเหวี่ยง มาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตคอนกรีตเซลลูล่าได้ นำไปผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างได้ อาทิ คอนกรีตบล็อกมวลเบาแบบเติมฟองอากาศ มอก.2601-2556 ผนังสำเร็จรูปมวลเบา ซึ่งต้องศึกษาขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการต่อไป ในการวิจัยและพัฒนาอัตราส่วนผสมคอนกรีตเซลลูล่าที่เหมาะสมกับวัสดุที่เหลือจากการผลิต กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะ สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิต ให้เป็นวัสดุก่อสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจด้านใหม่ด้วย นับเป็นการใช้การวิจัยและพัฒนา (R&D) มาแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน”
ภาพกิจกรรม
https://www.facebook.com/sutnews/posts/2604755122870531?__tn__=K-R
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร หารือแนวทางการนำกัญชาไปใช้ประโชน์ทางการแพทย์ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตกัญชาคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ 15 มกราคม 2564
- มทส. ร่วมกับ จ.นครราชสีมา เฝ้าระวัง COVID-19 ปรับหอพักนักศึกษา เป็นพื้นที่กักตัวระดับจังหวัด 11 มกราคม 2564
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เข้ารับรางวัล สถาบันผู้ทำชื่อเสียงด้านกีฬา ให้กับจังหวัดนครราชสีมา 29 ธันวาคม 2563
- มทส. ส่งมอบผลผลิตกัญชาคุณภาพ ให้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยืนยันด้านคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมผลิตยาไทย 5 ตำรับถึงมือประชาชน 25 ธันวาคม 2563
- มทส. รับนักศึกษาสหกิจศึกษากลับจากสมุทรสาคร ตรวจ COVID-19 พร้อมกักตัว 14 วัน ยันยังไม่พบผู้ติดเชื้อ 23 ธันวาคม 2563
- มทส. จัดพิธีเปิด อุทยานเควสตาโคราช ประตูสู่อุทยานธรณีโลก ร่วมพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อม ชุมชน สร้างแหล่งเรียนรู้ อบรมศึกษา และยกระดับอุทยานธรณีโคราชสู่อุทยานธรณีโลกยูเนสโก 18 ธันวาคม 2563
- มทส. ติดอันดับ 8 ของมหาวิทยาลัยไทย ที่ตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูง ตามการจัดอันดับของ Nature Index 2020 15 ธันวาคม 2563
- มทส. เจ้าภาพจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 19 ร่วมยกระดับมาตรฐานวิชาฟิสิกส์ เสริมศักยภาพนักเรียนไทยเทียบเท่าสากล 11 ธันวาคม 2563
- มทส. ติดอันดับ 8 ของไทย อันดับ 115 ของโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก Green Metric World University Ranking 2020 08 ธันวาคม 2563
- มทส. ติดอันดับ 11 ม.ไทย ในการจัดอันดับ ม.ชั้นนำเอเชีย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดย QS University Rankings 04 ธันวาคม 2563