
33 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ครบ 33 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 กับเส้นทางความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านจากมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) ที่มีความเป็นเลิศทั้งในด้านวิชาการ ด้านการวิจัย และด้านการประกอบการ โดยบริบทการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งไปสู่หมุดหมายของการเป็นที่พึ่งของสังคม (Social Enterprise) ชูบทบาทการเป็น “มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม” ภายใต้วิสัยทัศน์และการดำเนินนโยบาย SUT 2025 เข้าสู่ปีที่ 3 ของ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อยกระดับเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน (Innovation and Sustainable University)”
ผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานภายใต้แนวนโยบาย SUT 2025
เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายการดำเนินงานใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย Times Higher Education (THE) World University Rankings & Impact Rankings ในปี ค.ศ. 2023 มทส. ยังคงรักษาอันดับ 6 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก และอยู่ในอันดับ 10 ร่วมของประเทศ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับที่ 15 ของปีที่ผ่านมา 2) ผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา/ศิษย์เก่า ในเรื่องอัตราการได้งานทำและประกอบอาชีพอิสระของบัณฑิตอยู่ที่ 80-85% ดีกว่าในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่ไม่ถึง 70% และ 3) ความสามารถในการหารายได้ตามภารกิจเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านงบประมาณ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งดำเนินงานตามนโยบาย SUT 2025 มทส. มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,061 ล้านบาท หรือมากกว่า 24% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถึงไตรมาสที่ 3 มีรายได้ตามภารกิจ 1,095 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้งปี นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณาได้จากผลการดำเนินงานตามกรอบการประเมินตัวชี้วัด SUT Scorecard 16 ตัวชี้วัด พบว่า มี 11 ตัวชี้วัด ที่บรรลุตามเป้าหมายหรือเกินกว่าเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อีกด้วย
ตัวอย่างผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ในปีการศึกษา 2566 สามารถรับนักศึกษาใหม่ได้มากถึง 4,400 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 123% เทียบเป้าหมาย (ประมาณ 3,600 คน) เป็นจำนวนนักศึกษาใหม่ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลมาจากนโยบายการประชาสัมพันธ์หลักสูตรเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักเรียนรู้จักและสนใจมาเรียนที่ มทส. มากขึ้น
การปรับตัวของ มทส. ในยุค Disruptive Technology
มทส. ได้พัฒนาระบบการเรียนการสอน Education Platform มีหลักสูตรหรือชุดวิชาที่หลากหลายรองรับความต้องการของผู้เรียนทุกช่วงวัย (Lifelong learning) และการพัฒนากำลังคนในอนาคต (Manpower for the future) ปัจจุบัน ผู้เรียนกลุ่มเดิมหรือนักเรียนระดับมัธยมปลายที่เข้ามหาวิทยาลัยมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ความต้องการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพของกลุ่มคนวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น มทส. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตร Non-Degree, Up-skills/Re-skills/New-skills, short course training จัดการเรียนการสอนนอกเวลา ควบคู่กับระบบคลังหน่วยกิต หรือ Credit Bank ให้มากขึ้น รวมไปถึงผู้เรียนกลุ่มอื่น ๆ เช่น จัดกิจกรรมค่ายวิชาการสำหรับนักเรียนระดับประถมหรือมัธยมต้น จัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นเสริมรายได้ให้แก่กลุ่มผู้เกษียณอายุ เป็นต้น
![]() |
![]() |
ด้านการวิจัย มทส. เน้นผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูง (Impactful Research & Innovation) มุ่งเน้นภารกิจด้านการปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การสร้างพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กร ชุมชน และสังคม โดยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวทางของ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งสะท้อนการเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคมของ มทส. ได้เป็นอย่างดี
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |