มทส. จับมือ ซินโครตรอน ส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมสู้วิกฤติโควิด-19 ให้ รพ.สูงเนิน และเรือนจำกลางคลองไผ่

ศูนย์บรรณสาร
 
 

มทส. จับมือ ซินโครตรอน ส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมสู้วิกฤติโควิด-19 ให้ รพ.สูงเนิน และเรือนจำกลางคลองไผ่

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ให้แก่ โรงพยาบาลสูงเนิน และเรือนจำกลางคลองไผ่ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานส่วนหน้าที่ต้องปฏิบัติงานใกล้ชิด สัมผัสผู้ป่วย และผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และร่วมบรรเทาวิกฤติโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 


 

ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. ได้ส่งมอบ “เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสและกรองอากาศด้วยระบบโคโรนาดิสชาร์จ” ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา และคณะวิจัย มทส. ให้แก่  โรงพยาบาลสูงเนิน โดยมี เภสัชกรขนิผษฐา วัลลีพงษ์ รองผู้อำนวยการรับมอบ พร้อมกันนี้ อธิการบดี มทส. และ รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ส่งมอบ “ห้องคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อความดันบวก” ออกแบบและผลิตโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ให้แก่ เรือนจำกลางคลองไผ่ โดยมี นายสันทัด ชินโชติ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขังรับมอบ ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ยังได้ส่งมอบ “ห้องแยกโรค ความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม” ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นโรงพยาบาลสนามนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป


“เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสและกรองอากาศด้วยระบบโคโรนาดิสชาร์จ” ผลงานวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรรมศาสตร์ มทส. และคณะ ซึ่งได้รับการประสานงานจาก บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ดำเนินการสร้างเครื่องฯ และติดตั้งใช้งานจริง ในกลุ่มงานแผนกคลินิกทันตกรรม โรงพยาบาลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 4 เครื่อง นับเป็นโรงพยาบาลต้นแบบการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการกำจัดเชื้อไวรัสด้วยระบบโคโรนาดิสชาร์จ ทดแทนการใช้แผ่นกรองอากาศ HEPA filter แบบเดิม โดยออกแบบสร้างจากวงจรทวีแรงดัน ใช้ไฟฟ้ากำลังงานสูงเพื่อสร้างให้เกิดเป็นโคโรนาดิสชาร์จ สามารถกำจัดเชื้อไวรัสและลดปริมาณการแพร่กระจายเชื้อในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน ต้นทุนต่ำ ใช้งานง่ายและสามารถนำไปขยายผลประยุกต์ใช้กับห้องผู้ป่วยของโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาได้ส่งมอบเครื่องฯ ให้หน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์ อาทิ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร กรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลชุมพวง

 

 

สำหรับ “ห้องคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อความดันบวก” และ “ห้องแยกโรค ความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม” ผลิตโดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้ผลิตและจัดหานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรด่านหน้า โรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ โดย “ห้องคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อความดันบวก” เป็นห้องที่ทำความดันบวก ทำให้อากาศภายในห้องดันออกมาข้างนอกและไม่ให้อากาศภายนอก (ที่ติดเชื้อ) เข้าสู่ห้องที่มีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่อยู่ มีระบบกรองอากาศผ่าน HEPA filter ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างตรวจคัดกรองผู้ป่วย ตัวห้องสามารถเคลื่อนย้ายได้ สะดวกต่อการใช้งาน ด้าน “ห้องแยกโรค ความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม” มีส่วนประกอบแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ห้องความดันลบสำหรับเตียงผู้ป่วย และห้องเข้า-ออกสำหรับแพทย์และพยาบาล ซึ่งความดันภายในห้องจะต่ำกว่าความดันบรรยากาศ และมีระบบกรองอากาศ HEPA filter เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสกระจายสู่ภายนอก โดยออกแบบให้ใช้งานได้จริง ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ราคาไม่แพง สะดวกในการประกอบ ติดตั้ง เคลื่อนย้าย และการดูแลรักษา

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมและยินดีในความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมแรงของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน กระทั่งเกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงสังคมได้จริง ทั้งนวัตกรรม “เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสและกรองอากาศด้วยระบบโคโรนาดิสชาร์จ” และ “ห้องคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อความดันบวก” โดยมี สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนธานี มทส. ทำหน้าที่เชื่อมประสานนำทักษะความเชี่ยวชาญ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ภายในมหาวิทยาลัย ออกให้บริการวิชาการสู่ชุมชนและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ภาคเอกชนที่ได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณจัดสร้างนวัตกรรมเหล่านี้ เป็นการระดมสรรพกำลัง ผสานกับองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเครือข่าย ร่วมสร้างผลงานนวัตกรรมสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์และสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ประโยชน์และเพื่อบรรเทาสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 จนกว่าจะกลับสู่สถานการณ์ปกติต่อไป

 

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

21 พฤษภาคม 2564

 

 

instagram takipçi satın al

instagram takipçi satın al

 

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง