มทส. เปิดหน่วยปฏิบัติการ อว.ส่วนหน้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมประสานความร่วมมือ มทส. – จังหวัดนครราชสีมา – สซ. ในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสู่ชุมชน

ศูนย์บรรณสาร
มทส. เปิดหน่วยปฏิบัติการ อว.ส่วนหน้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมประสานความร่วมมือ มทส. – จังหวัดนครราชสีมา – สซ. ในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสู่ชุมชน
 
 
 
วันที่ 16 มีนาคม 2564 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดพิธีเปิดหน่วยปฏิบัติการ อว.ส่วนหน้าจังหวัดนครราชสีมา ได้รับเกียรติจาก นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิด พร้อมกันนี้ ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและนวัตกรรมสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสามหน่วยงาน ณ SUT Co-Working Space เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
 
 
 
 
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า “มทส. มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยสนับสนุน ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน ในวันนี้ได้มีพิธีเปิดหน่วยปฏิบัติการ อว.ส่วนหน้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง มทส. เป็นหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เพื่อพัฒนาจังหวัดด้วยอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งได้รับอนุมัติให้ร่วมดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ: U2T) ซึ่งจะมีบัณฑิตจบใหม่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ระดับตำบลทั่วประเทศ เกิดการสร้างงานและพัฒนาแก้ไขปัญหาและเศรษฐกิจของตำบลแบบพุ่งเป้า อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
 
 
สำหรับความร่วมมือระหว่าง มทส. จังหวัดนครราชสีมา และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ในครั้งนี้ จะร่วมส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในด้านการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้อง นวัตกรรม รวมถึงเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับงานวิจัยและงานพัฒนาวิศวกรรมทางด้านแสงซินโครตรอนและเทคนิควิศวกรรมขั้นสูง ซึ่ง มทส. เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับชุมชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพยากร รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ เพิ่มความเข้มข้นของการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างเป็นระบบ อันส่งผลสู่เศรษฐกิจ การจ้างงาน และความเข้มแข็งของสังคมไทย รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง”
 
 
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ความร่วมมือในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นระหว่างจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนและนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชม ผู้ประกอบการชุมชนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ได้เข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่โดยสะดวกและทั่วถึง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) “โคราชเมืองน่าอยู่ประชาชนมีความสุขมั่นคงยั่งยืน” และเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา คือ “ศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมและท่องเที่ยวของภูมิภาค นวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรม สังคมคุณภาพสูง” ซึ่งการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้มีความมั่นคงและยั่นยืนตลอดไป”
 
 
 
รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ. กล่าวด้วยว่า “ตามที่ จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มีเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือในด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและนวัตกรรมสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาจังหวัดนครราชสีมานั้น ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น หรือระดับจังหวัด ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่าง “แสงซินโครตรอน” ในการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ สินค้า วัตถุดิบ ในชุมชนท้องถิ่น นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลผลิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนได้ ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคตามเป้าหมายการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง การขับเคลื่อนภารกิจของทั้งสามหน่วยงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์สังคม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้อื่น ๆ อันเป็นการบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และเทคโนโลยีระหว่างกัน อีกทั้งช่วยให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้พื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป”
 
 
 
 
 

mp3 indir



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง