มทส. จับมือ บ. ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม บริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาและลอยน้ำ คาดลดค่าไฟฟ้ากว่า 510 ล้านบาท ในระยะยาว 25 ปี

ศูนย์บรรณสาร

มทส. จับมือ บ. ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม บริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาและลอยน้ำ คาดลดค่าไฟฟ้ากว่า 510 ล้านบาท ในระยะยาว 25 ปี


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ในเครือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานทางเลือก ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำและบนหลังคาอาคารต่าง ๆ ผนวกกับระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง วางโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อบริหารจัดการด้านพลังงานภายในมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะช่วยประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 510 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 25 ปี ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ นางรสยา เธียรวรรณ กรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานทางเลือก โดยมี นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) แถลงการพัฒนาระบบพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Energy และการนำเทคโนโลยีจากการวิจัยไปขยายผล พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินและวิสาหกิจ แถลงโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Energy ในวันที่ 28 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า “มทส. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาพลังงานทางเลือกทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า และการบริหารจัดการพลังงานภายในมหาวิทยาลัย โดยส่งเสริมการวิจัยพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ของคณาจารย์ รวมไปถึงความร่วมมือกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ในครั้งนี้ ที่ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานทางเลือก Solar Energy มีเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอบรับนโยบาย SUT Re-Profile 2020 ของมหาวิทยาลัย ตามยุทธศาสตร์ที่ 5 “การบริหารงานที่นำสมัย เป็นธรรมและสร้างระบบนิเวศแห่งคุณภาพ” ดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต เพื่อมุ่งสู่ Sustainability Green and Clean University นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงและตอบสนองตามยุทธศาสตร์ที่ 3 “การสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยการมุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมสนับสนุนงานวิจัย ถือเป็นก้าวย่างสำคัญและเป็นโครงการวิจัยที่ตอบโจทย์การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยเอง รวมถึงตอบโจทย์ปัญหาด้านพลังงานสะอาดของประเทศ โดยการประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม ด้วยการนำหลักความรู้ทางวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคม ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง แก่นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป อย่างยั่งยืน”

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินและวิสาหกิจ มทส. กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานทางเลือก โดย บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ได้นำ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด หรือ CHPP ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานทางเลือกกับมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Solar Energy) ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อลดและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนในกรอบข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานทางเลือก เพื่อทดแทนการใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าของมหาวิทยาลัย โดยการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่มุ่งสู่การกระท้อนราคาต้นทุนพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบัน มทส. มีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ภายใต้ความร่วมมือนี้เราสามารถใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากการนำระบบพลังงานทดแทนที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ 4.3 เมกะวัตต์ ในอ่างเก็บน้ำสุระ 1 และแผงโซลาร์เซลล์ 1.7 เมกะวัตต์ บนหลังคาอาคารต่าง ๆ กำลังผลิตรวมประมาณ 6 เมกะวัตต์ เพื่อเป็น “Low carbon university” และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคให้กับมหาวิทยาลัยผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบเอกชนกับเอกชน (Private PPA) คาดว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 510 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 25 ปี และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 115,000 ตัน นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดตั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย รวมถึงนำรูปแบบและระบบการผลิตมาช่วยพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ส่งเสริมงานวิจัยของนักศึกษา ตลอดจนเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายพลังงานทางเลือกภายในมหาวิทยาลัย ให้ตอบโจทย์การใช้งานและมีความยั่งยืน มุ่งสู่ Sustainability Green and Clean University ของมหาวิทยาลัยต่อไป”

 

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เผยว่า “ความร่วมมือระหว่าง มทส. และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด หรือ CHPP ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม GPSC เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตรวมประมาณ 6 เมกะวัตต์ ผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบเอกชนกับเอกชน (Private PPA) โดยใช้งบประมาณดำเนินการราว 150 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ในปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะด้วยระบบพลังงานไมโครกริด โดยแบ่งการติดตั้งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) ติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) จำนวน 8 อาคาร ขนาดกำลังผลิตรวมประมาณ 1.68 เมกะวัตต์ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบชนิด Mono PERC Half-Cell Module (2) ติดตั้ง Solar Rooftop บริเวณหลังคาทางเดินอาคารบริหาร ขนาดกำลังผลิต 60 กิโลวัตต์ ด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบชนิด Bifacial Cells และ (3) ติดตั้งโซลาร์ชนิดลอยน้ำ (Solar Floating) ในอ่างเก็บน้ำสุระ 1 ขนาดกำลังผลิต รวมประมาณ 4.312 เมกะวัตต์ มีจุดเด่นอยู่ที่ทุ่นลอยน้ำ เป็นเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท. ที่ใช้วัตถุดิบเป็นเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษที่ผสมของสารกันแสง UV มีคุณสมบัติคงทน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม มีแนวคิดจะร่วมออกแบบใช้ทุ่นลอยน้ำกับการติดตั้งแผงรูปแบบใหม่จากการศึกษาของทีมวิจัย มทส. ด้วยการใช้ Data engineering มาต่อยอดให้เกิดโรงไฟฟ้านำร่องพลังงานแสงอาทิตย์รูปแบบใหม่ มีเป้าหมายเชิงรุกจัดการความต้องการพลังงานอย่างสอดคล้อง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมกันนี้ ยังมีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง (Battery Energy Storage System: BESS) ชนิด Lithium ion Battery ขนาด 100 กิโลวัตต์ / 200 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ณ อาคารหอพักสุรนิเวศ และวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในลักษณะ Block Chain รวมถึงการติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควบคุมและติดตามผลการทำงานแบบ Real Time สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้บริหารจัดการในการเพิ่มความแม่นยำของประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นการร่วมมือที่จะวิจัยและพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทนของไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น โดยเป็นการดึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาบริหารทั้งระบบ ทั้ง AI, BESS ระบบซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Energy Platform: SEP) ทั้งยังนำไปสู่การสนับสนุนการวิจัยพลังงานทดแทนให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจอื่น ๆ และจะก้าวไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าในอนาคตอีกด้วย”

 

film

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง