สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน ห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ แก่ รพ.สิรินธร จ.ขอนแก่น สร้างโดยคณะนักวิจัย มทส.

ศูนย์บรรณสาร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
พระราชทาน ห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ  
แก่ รพ.สิรินธร จ.ขอนแก่น สร้างโดยคณะนักวิจัย มทส.

 

    นายอภิชาต จงสกุล  รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานรับมอบ “ห้องคลีนรูมสำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยแบบความดันลบ (Negative Pressure)” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งจัดสร้างภายใต้ “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ )” เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาล 5 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมส่งมอบแก่โรงพยาบาลสิรินธร โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายแพทย์วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ร่วมรับมอบ ซึ่งห้องดังกล่าวติดตั้งโดยคณะนักวิจัยของ มทส. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ณ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น

 

    นายอภิชาต จงสกุล รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “ด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้ง “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ )” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 อาทิ ห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ พระราชทานแก่โรงพยาบาล 4 แห่ง หุ่นยนต์ปิ่นโต และ “กระจก” ระบบสื่อสารทางไกล จำนวน 73 ชุด เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาล 73 แห่ง กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ

 

    ต่อมาได้พระราชทานพระราชานุมัติเพิ่มเติม ให้ใช้เงินจากกองทุนดังกล่าวจัดซื้อ ห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ (Negative Pressure) แบบเคลื่อนที่ ซึ่งออกแบบและจัดสร้างโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (COE) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ บริษัท อีคิวเทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มีคุณสมบัติสามารถจัดการอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย ไม่ให้ออกไปนอกห้องและบำบัดอากาศจนปราศจากเชื้อ ทั้งยังลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยรายอื่นและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยมอบให้มหาวิทยาลัยจัดสร้างและติดตั้งห้องคลีนรูมฯ เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลชัยภูมิ และ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป”

 

     รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยรู้สึกเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสนองงานตามแนวพระราชดำริใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในหลายวาระ ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 รวมถึงการสร้าง “ห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ (Negative Pressure)” แก่มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิชาการ ระหว่างทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (COE) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา นักวิจัยจากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สิงห์ดง ได้นำประสบการณ์จากห้องปฏิบัติทดลอง มาประยุกต์ใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรคของผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วย ตามหลักการและมาตรฐานทางการแพทย์ สำหรับภาคเอกชน บริษัท อีคิวเทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้ใช้ความชำนาญด้านฝีมือช่างและอุตสาหกรรม เข้าร่วมออกแบบจัดสร้างอย่างเต็มกำลัง ตามศักยภาพที่ทุกฝ่ายมีภายในระยะเวลาอันจำกัด กระทั่งประสบผลสำเร็จเป็นห้องตรวจคัดกรองเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ ต้นแบบ ซึ่งได้ส่งมอบแก่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ใช้งานจริงเป็นแห่งแรกเมื่อต้นเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นการตอบโจทย์ความต้องการเร่งด่วนของประเทศ และร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเฉพาะแห่งนี้”

 

     รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. เปิดเผยว่า “การจัดสร้างห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบแรงดันลบ (Negative Pressure) แบบเคลื่อนที่ เป็นห้องคลีนรูม ขนาด 3 x 6 x 2.7 เมตร ออกแบบและจัดสร้างเป็นห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโรค แบ่งได้เป็นห้องความดันลบ 2 ห้อง สำหรับตรวจหาเชื้อโรคด้วยวิธีป้ายจมูกและลำคอ (swab) ได้พร้อมกัน 2 คน กั้นห้องระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรอย่างชัดเจน ลดการสัมผัส ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค มีห้องปฏิบัติตรวจรักษา และ ห้องน้ำ 1 ห้อง ติดตั้งไว้แยกจากตัวอาคารหลัก ทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อออกจากห้องตรวจไปสู่สิ่งแวดล้อมและติดต่อไปยังบุคคลอื่น เพราะอากาศที่มีเชื้อโรคจะไม่ไหลออกจากห้องตรวจไปได้ สำหรับการรักษาความดันที่ติดลบนี้อาศัยปั๊มที่ต้องทำงานตลอดเวลา เน้นสำหรับการรักษาพยาบาลและหัตถการความเสี่ยงสูง สามารถเคลื่อนย้ายเตียงผู้ป่วยเข้าออกผ่านห้อง Anteroom ได้ พร้อมทั้งออกแบบระบบสำรองไฟเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อกรณีไฟฟ้าดับอีกด้วย

 

     ผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “การให้” โดยบริจาคเงินสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ผ่านช่องทาง ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่  067-300487-3  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2447 8585 - 8 ต่อ 109, 121 และ 259

 

 

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

22 มิถุนายน 2563

 

gaziantep escort bayan , gaziantep escort , kayseri escort

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง