มทส. เดินหน้าผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้ฤกษ์ลงต้นกล้า รุ่นแรก 13 พฤษภาคม นี้

ศูนย์บรรณสาร

มทส. เดินหน้าผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ 
ได้ฤกษ์ลงต้นกล้า รุ่นแรก 13 พฤษภาคม นี้

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมเริ่มผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จากกัญชาสายพันธุ์ฝอยทองภูผายล สกลนคร หลังได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เพื่อการปลูกและครอบครองเมล็ดพันธุ์กัญชา ประเภท 5 เริ่มแผนการผลิตและใช้ประโยชน์ ได้ฤกษ์ลงต้นกล้า รุ่นแรก วันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ภายในโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล คาดว่าจะเก็บเกี่ยวรอบแรกได้ในกรกฎาคม 2563 ส่งต่อโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ เครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เพื่อใช้ผลิตยาสมุนไพรไทย 9 ตำรับเชิงพาณิชย์

     ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. เปิดเผยว่า “จากการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทย ในการขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมการผลิตกัญชาแพทย์แผนไทยตามนโยบายของรัฐบาล วัตถุประสงค์เพื่อปลูกวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป การวิจัยยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีสำหรับทำยาสมุนไพรคุณภาพ และถูกต้องตามมาตรฐานสากล  ด้วยศักยภาพของมหาวิทยาลัยด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ โครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง มหาวิทยาลัยจึงได้เริ่มโครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด เป็นนักวิจัยหลัก ได้มีการวางแผนการผลิต แผนการจําหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์  เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ กระทั่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ได้ออกใบอนุญาตการปลูกและครอบครองเมล็ดพันธุ์กัญชา ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อปลายเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา

 

  
ใบอนุญาตปลูก และ ใบอนุญาตมีไว้ในครอบครอง ยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5
 

   

 

     นับจากนี้ โครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” มทส. จะเดินหน้าตามแผนงานอย่างเต็มกำลัง หลังจากเตรียมการปรับพื้นที่พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา บรมราชกุมารี ขนาด 15 ไร่ จัดสร้างโรงเพาะชำต้นกล้า จำนวน 1 โรง โรงเรือนเพื่อการปลูก ขนาด 5 x 100 เมตร จำนวน 2 โรง รวมพื้นที่ในการปลูก 3,090 ตารางเมตร เป็นโรงเรือนระบบปิดวางระบบน้ำหยด พร้อมระบบระบายอากาศ ถูกหลักวิชาการตามมาตรฐานสากล เพื่อการเพาะกล้า การเตรียมดิน การปลูก การเก็บผลผลิตกัญชา และการจัดทำรายงานผล ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรัดกุมภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุปลูกได้จำนวน 3,360 ต้นต่อหนึ่งรอบการผลิต ภายในพื้นที่เพาะปลูกที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน พร้อมวางระบบรักษาความปลอดภัยทุกขั้นตอน


 

   

 

   สำหรับแผนการผลิต  มหาวิทยาลัย ได้รับความอนุเคราะห์ “เมล็ดพันธุ์กัญชาฝอยทองภูผายล” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร โดยสามารถนำมาเพาะเป็นต้นกล้ากัญชา จำนวน 5,760 ต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยจะได้ทำการคัดแยกต้นกล้ากัญชา รุ่นแรก ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ที่จะถึงนี้ และเมื่อต้นกล้ามีอายุ 20-25 วัน หรือมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จัดทำการคัดเลือกไปปลูกภายในโรงเรือน ทั้ง 2 โรง แบ่งเป็นปลูกในกระถาง 1,500 กระถาง และปลูกแบบลงดิน 1,860 ต้น รวมจำนวน 3,360 ต้นต่อรอบการผลิต ส่วนต้นกล้าที่เหลือจะเก็บไว้เพื่อซ่อมต้นที่ไม่สมบูรณ์จนกว่าจะครบจำนวนที่ต้องการ สำหรับผลผลิตกัญชาสด จำนวน 2,000 กิโลกรัม  ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องใช้ความทักษะและประสบการณ์อย่างสูง โดยเฉพาะการคัดแยกเพศ เนื่องจากต้นกัญชาเป็นพืชที่มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย เมื่อถึงระยะออกดอกจะต้องคัดเพศผู้ทิ้งทําลาย ด้วยการเผาโดยโรงเผาขยะชีวมวล มทส.  อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้าย และทำลายกัญชาที่เหลือจากกระบวนการผลิตต่างๆ  จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบฯ อย่างใกล้ชิด


   

 

bahis siteleri

      การเก็บเกี่ยว แบ่งเป็น 2 รอบ  รอบที่ 1 จะเก็บใบ เดือนกรกฎาคม 2563 เก็บดอก เดือนสิงหาคม 2563  รอบที่ 2 เก็บใบ เดือนตุลาคม 2563 และ เก็บดอก เดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งก่อนเก็บเกี่ยวในช่วงต้นกัญชาติดเมล็ด จะต้องประสานให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา เป็นผู้วิเคราะห์สารตกค้างก่อนทําการเก็บเกี่ยว ทั้ง 5 ส่วน คือ ราก ลําต้น ใบ ดอก และเมล็ด เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพถูกต้องตามมาตราฐาน ก่อนส่งมอบเป็นกัญชาแห้ง ปริมาณ 150 กิโลกรัม ให้แก่โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลเครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรแผนไทย จํานวน 9 ตํารับ คือ ตำรับศุขไสยาศน์  ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาทาริดสีดวงทวารและโรคผิวหนัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโยตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี  และตำรับยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไขผอมเหลือง  เป็นไปตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  พัฒนาต่อยอดยาสมุนไพรไทยสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป”

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

สำนักงานอธิการบดี มทส.

7 พฤษภาคม 2563

 

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง