29 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันการศึกษาที่เป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เป็นที่พึ่งของสังคม

ศูนย์บรรณสาร

29 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันการศึกษาที่เป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เป็นที่พึ่งของสังคม

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้ผลักดันแนวนโยบาย SUT Re-profile 2020” สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ปี 2561 – 2564 เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้สามารถปรับตัวรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” และความท้าทายทางเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ที่พลิกรูปแบบการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีเสถียรภาพ มีคุณภาพ และเป็นที่พึ่งของสังคม

 

ในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบ 29 ปี ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2562 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เผยถึงผลสัมฤทธิ์ของมหาวิทยาลัยภายใต้แนวนโยบาย SUT Re-profile 2020” ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Social Enterprise โดยดำเนินการตาม 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่

     ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence) มีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างนักศึกษาที่เป็นเลิศ โดยพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย ยืดหยุ่นได้ ทั้งในแบบ Modular Curriculum แบบ Degree และ Non-Degree หรือ Training ระยะสั้น รวมถึงหลักสูตร Double Degree ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ อีกทั้งพัฒนาสื่อการสอนให้เป็น E-Courseware ไปแล้วกว่า 40 บทเรียน พร้อมปรับการเรียนการสอนเป็น Active Learning จัดให้มี Learning Space สนับสนุนระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพการสอนให้ได้มาตรฐานสากลตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ UKPSF (UK Professional Standard Framework) ปัจจุบันมีคณาจารย์ได้รับการรับรองวิทยฐานะรวมทุกระดับ ทั้งสิ้น 53 ราย ที่สำคัญคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย ได้รับการรับรองวิทยฐานะระดับ Principal Fellow เป็นท่านแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ การสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 ให้มีความพร้อมด้านวิชาการและความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองโลก ส่งเสริมทักษะด้านภาษา (Bilingual Proficiency) กำหนดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีต้องผ่านการสอบวัดสมิทธิภาพทางภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา สร้างความร่วมมือกับสถาบันต่างประเทศกว่า 103 สถาบัน ใน 26 ประเทศ ตลอดจนสร้างบรรยากาศความเป็นสากลภายในมหาวิทยาลัย อีกทั้ง มทส. มุ่งมั่นที่จะสร้างความสามารถด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา อาทิ โครงการ Enterprise Cooperative Education บูรณาการหลักสูตรด้านความเป็นผู้ประกอบการเข้ากับจุดแข็งด้านสหกิจศึกษา เพื่อให้นักศึกษามีความรู้และทักษะจากการปฏิบัติงานจริงของการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต

     ด้วยอายุเพียง 29 ปี แต่ มทส. ได้รับการจัดอันดับจาก Times Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดังจากประเทศอังกฤษ โดยในปี 2562 อยู่ในกลุ่มอันดับ 181 – 190 ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (THE Asia - Pacific University Rankings 2019) เป็นอันดับ 3 ของไทย และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมทั้งเป็นอันดับ 1 ของไทย ติดกลุ่มอันดับ 201 - 250 ของโลก จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี (THE Young University Rankings 2019) อีกด้วย

     ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University) มีการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม ลงทุนประเดิม 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ มีนักวิจัยเต็มเวลาเป็นกำลังหลักในการพัฒนางานวิจัย รวมถึงส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ตามโครงการ Research Brotherhood และเพื่อยกระดับการวิจัยอย่างเข้มข้น ในปี 2562 ได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือ CoE (Center of Excellence) เพิ่มขึ้นอีก 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการประยุกต์ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจไก่โคราช ด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ ด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมเกษตร และด้านความเป็นผู้ประกอบการ จากเดิมที่มีอยู่ 5 ด้าน คือ ด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง ด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ด้านฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และด้านชีวมวล ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Social Impact, World Ranking, SUT Branding, Spinoff, Startup Company และ บัณฑิตพันธุ์ใหม่

 

     ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Social & Commercial – STI Impact) ในอีก 3 ปีข้างหน้า มทส. จะมีอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) ส่งผลต่อการพัฒนาไปสู่เมืองวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างสมบูรณ์ มทส. ได้สร้างบรรยากาศและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนา Startup อาทิ SEDA Innovation Playground หรือ Technopolis Co-Working Space พื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษา นักวิจัย และผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยคู่เคียงสังคม โดยมีบทบาทในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดทำแผน ISAN 4.0 โครงการเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ โครงการ Northeastern Food Innopolis การพัฒนาโคเนื้อโคนมแบบครบวงจร การก่อสร้างโรงงานต้นแบบ Biorefinery ตลอดจนยกระดับความร่วมมือกับจังหวัดนครราชสีมาอย่างเต็มรูปแบบ แสดงให้เห็นว่า มทส. เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Local Engagement และ Industry Linkage อย่างเต็มที่

     ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความผูกพันกับวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (North-Eastern Culture Engagement) โดยใช้ความรู้ความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้บริหารจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีเทคโนธานีเป็นเสาหลักสำคัญด้านการใช้ประโยชน์จาก “อุทยานการเรียนรู้สิรินธร” และ “ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชวินิจฉัยมอบหมายให้ มทส. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันมาจากพระราชดำริฯ หรือ อพ.สธ. คลองไผ่ และศูนย์ฝึกอบรม อพ.สธ. คลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอด “ศาสตร์พระราชา” ปัจจุบันศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ภายใต้การดำเนินงานของ มทส. ได้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy Innovation Hubs เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลของสินค้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยความร่วมมือของเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 19 แห่ง สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจและสังคมฐานรากของภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

 

     ยุทธศาสตร์ที่ 5 การบริหารงานที่นำสมัย เป็นธรรม และการสร้างระบบนิเวศแห่งคุณภาพ (Smart Management, Good Governance and Quality Ecosystem) อันเป็นรากฐานสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างมหาวิทยาลัยที่นำสมัยด้วยดิจิทัล (Smart Campus) สร้างระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนความเป็นเลิศ สร้างมหาวิทยาลัยสีเขียวสู่การเป็น Sustainability Green and Clean University สร้างความสัมพันธ์กับศิษย์เก่าให้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น รวมไปถึง บริหารการเงินที่สมดุลเพื่อความยั่งยืน บริหารสินทรัพย์รูปแบบใหม่ กำหนดให้มีรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินและวิสาหกิจเพื่อกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ การจัดการหน่วยวิสาหกิจ สร้างความเชื่อมโยงและเป็น Social Enterprise การสร้างวัฒนธรรมแห่งคุณภาพ นำระบบ Project-Based Management (PBM) มาใช้ โดยจะบูรณาการร่วมกับการจัดสรรงบประมาณ การเงินการคลังและพัสดุ และการบริหารงานบุคคล จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน Standard Operating Procedure (SOP) ในทุกหน่วยงาน ซึ่งจะนำไปสู่ระบบการตรวจสอบแบบ Online Auditing ให้เกิดวัฒนธรรมคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม

 

     สัมฤทธิผลของการดำเนินงานภายใต้แนวนโยบาย SUT Re-Profile 2020 ดังที่กล่าวมา ผมเชื่อมั่นว่าเราจะได้เห็นความก้าวหน้าและผลงานเชิงประจักษ์มากยิ่งขึ้น ในปี 2563 และจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างความแตกต่างที่มากกว่าการเป็น Technological University แต่เป็น Social Enterprise University มุ่งไปสู่เป้าหมาย มหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับ 1 ของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง

 

29th SUT ANNIVERSARY

Moving Toward Social Enterprise

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง