นักวิจัย มทส. เสนอผลงานวิจัยเด่น เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์สามมิติ OCT ในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2

ศูนย์บรรณสาร

นักวิจัย มทส. เสนอผลงานวิจัยเด่น “เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์สามมิติ OCT”
ในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2
 

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2: The Second Materials Research Society of Thailand International Conference” ระหว่างวันที่ 10 - 12 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะซายน์ จังหวัดชลบุรี เวทีในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านวัสดุศาสตร์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ ในโอกาสนี้ งานวิจัย “เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์สามมิติ OCT” โดย ผศ.ดร. พนมศักดิ์ มีมนต์ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. จะเข้าร่วมนำเสนอผลงานในที่ประชุมวิชาการครั้งนี้ด้วย
 

 

ผศ.ดร. พนมศักดิ์ มีมนต์ หัวหน้าคณะนักวิจัย เปิดเผยว่า “เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์สามมิติ OCT เป็นผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ทีมวิจัยได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาขึ้นเองทั้งหมด ตั้งแต่ในระดับห้องปฏิบัติการไปจนถึงต้นแบบภาคสนาม โดยเน้นออกแบบให้มีต้นทุนการสร้างที่ต่ำ แต่ให้ประสิทธิภาพในการถ่ายภาพที่สูงเทียบเท่ากับในต่างประเทศ และออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงได้ง่าย เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานกับตัวอย่างแต่ละชนิดที่ต้องการศึกษาและเข้ากับบริบทของงานวิจัยภายในประเทศ 
 

 

โดยระบบต้นแบบถ่ายภาพสามมิติโอซีทีที่พัฒนาขึ้น สามารถถ่ายภาพสามมิติด้วยความเร็วในการถ่ายภาพที่สูงกว่า 100 ภาพต่อวินาที ทำให้สามารถถ่ายภาพสามมิติของเนื้อเยื่อตัวอย่างที่ต้องการศึกษาได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 วินาที โดยไม่ต้องมีการเตรียมสไลด์หรือตัดชิ้นตัวอย่าง ช่วยลดความยุ่งยากและขั้นตอนของการเตรียมตัวอย่างดังเช่นในเทคนิคอื่นๆ อีกทั้งการใช้แสงอินฟราเรดในช่วงสั้นๆ ทำให้ไม่มีผลข้างเคียงต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต สามารถถ่ายภาพซ้ำๆ ได้ จึงหมาะกับงานวิจัยที่ต้องการตรวจติดตามตัวอย่างเดิม เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างหรือการวินิจฉัยความผิดปกติของกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการศึกษา 
 

 

ซึ่งการพัฒนาระบบ OCT ขึ้นใช้เองภายในประเทศ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศโดยมีราคาเริ่มต้นต่อเครื่องประมาณ 4-5 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษาในระยะยาว ทีมนักวิจัยได้ศึกษาออกแบบระบบและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับงานวิจัยด้านต่างๆ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านชีวภาพ ด้านการเกษตร ด้านการศึกษาคุณสมบัติของวัสดุ รวมถึงด้านวิศวกรรมการออกแบบระบบและซอฟแวร์ประมวลผล เพื่อเป็นการกระจายองค์ความรู้ไปสู่วงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาที่พอเพียงและยั่งยืนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไป”

 

 

ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.
24 มิถุนายน 2562

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง