มทส. จับมือ ซีเอชซี นาฟเทค พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมโยธา รับมอบเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GNSS CHC และสถานีรับสัญญาณดาวเทียมถาวร

ศูนย์บรรณสาร

มทส. จับมือ ซีเอชซี นาฟเทค พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมโยธา รับมอบเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GNSS CHC และสถานีรับสัญญาณดาวเทียมถาวร

      มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือทางวิชาการพัฒนาความก้าวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมโยธา โดยรับมอบเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GNSS CHC รุ่น i80 และสถานีรับสัญญาณดาวเทียมถาวร ซึ่งติดตั้งภายในมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการเรียนการสอน เสริมศักยภาพนักศึกษา มทส. และพนักงานของบริษัท ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี รองศาสตราจารย์ ดร.พรศิริ จงกล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย นายภัณฑิล นิชรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด นายวุฒิกรณ์ อุ่มวงค์ วิศวกร นายเมธา น้อยนาค วิศวกร และคณะผู้บริหารของบริษัท ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 

     รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี กล่าวในนามอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาภาคการผลิตและอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีภารกิจในการจัดการเรียนการสอนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อผลิตวิศวกรที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ต่างตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการด้านการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมโยธา การพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาและพนักงานของบริษัท ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การประสานความร่วมมือในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร รวมทั้งการนำองค์ความรู้มาต่อยอด ขยายผลให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและประโยชน์ทางด้านธุรกิจได้ต่อไป”

 

     รองศาสตราจารย์ ดร.พรศิริ จงกล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ได้ตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ด้านการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมโยธา และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับงานรังวัด งานสำรวจ งานแผนที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติการฝึกทำงานจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานจริง รวมถึงร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของพนักงานบริษัท ให้โอกาสพนักงานของบริษัทได้เพิ่มพูนความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับคำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่จากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย หรือการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดจนจัดอบรมด้านงานวิศวกรรมสำรวจต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษา คณาจารย์ และบุคคลภายนอก ที่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการสำรวจสมัยใหม่ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนด้านเครื่องมือและทรัพยากรที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัยในเรื่องงานวิจัยแก่บริษัท ในกรณีที่บริษัทพบปัญหาจากการทำงานและมีความต้องการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง โดยทางมหาวิทยาลัยยินดีทำหน้าที่เป็นภาค R&D ให้แก่บริษัท รวมทั้งสนับสนุนความต้องการของบริษัทในเรื่องคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของวิศวกรที่บริษัทต้องการ โดยนำข้อคิดเห็นจากการที่นักศึกษาไปปฏิบัติการสหกิจศึกษากับทางบริษัทหรือจากบุคลากรของบริษัทโดยตรง มาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง โดยความร่วมมือนี้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562”

 

     ด้าน นายภัณฑิล นิชรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า CHC ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในการสนับสนุนงานด้านการหาตำแหน่งจากดาวเทียม GNSS สำหรับงานสำรวจ งานรังวัด งานออกแบบก่อสร้างต่าง ๆ ด้วยความละเอียดถูกต้องสูงถึงระดับไม่กี่เซนติเมตร ด้วยมาตรฐานชั้นงานที่มีประสิทธิภาพสูง โดยการนำเทคโนโลยี board จากประเทศสหรัฐอเมริกามาร่วมประมวลผล ในราคาที่สมเหตุผลและจับต้องได้ และยังได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thailand RTK Network ที่ทำการติดตั้งสถานีถาวรรับสัญญาณดาวเทียม GNSS หรือ CORS ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยกว่า 130 สถานี ในปี พ.ศ. 2561 ร่วมกับกรมที่ดิน พร้อมระบบประมวลผลส่วนกลางในการให้บริการระบบ RTK Network หรือ VRS ในประเทศ สำหรับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทในครั้งนี้ บริษัทได้ให้การสนับสนุนเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GNSS CHC รุ่น i80 จำนวน 1 ชุด และติดตั้งสถานี รับสัญญาณดาวเทียมถาวร จำนวน 1 สถานี ภายในมหาวิทยาลัย ณ อาคารเครื่องมือ 4 ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเครื่องมือและทรัพยากรที่มีอยู่ของบริษัทในเรื่องงานวิจัยแก่มหาวิทยาลัย จึงเป็นแนวทางที่ดีที่จะสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ สนับสนุนการดำเนินงาน ตลอดจนติดตามประเมินผลตามบันทึกข้อตกลงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

 

 

 

 

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง