มทส.คว้ารางวัล Silver Award รับถ้วยรางวัลจากรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

ศูนย์บรรณสาร

   มทส.คว้ารางวัล Silver Award รับถ้วยรางวัลจากรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

       มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเข้าร่วมจัดนิทรรศการและแสดงผลงานวิจัยใน งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2562 (Thailand Research Expo 2019) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด "วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ระหว่างวันที่ 7 - 10 เมษายน 2562 ณ Highlight Stage ห้องคอนเวนชัน ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยในปีนี้ มทส. รับรางวัลผลงานวิจัยและจัดแสดงนิทรรศการ รับถ้วยรางวัลประเภท Silver Award จากรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และเกียรติบัตร
 
 
         วันนี้ (10 เมษายน 2562) ผศ. ดร.พรรษา ลิบลับ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เข้ารับถ้วยรางวัลประเภท Silver Award จากรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ภายในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2562  นิทรรศการผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่จัดแสดงในปีนี้คือ ผลงานวิจัยเรื่อง "นวัตกรรมถนนอย่างยั่งยืน" โดย ศ. ดร. สุขสันติ์ หอพิบูลสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาถนนที่มีความคงทนแข็งแรง สมรรถนะและอายุการใช้งานสูง ด้วยต้นทุนบำรุงรักษาที่ต่ำ ซึ่งประกอบด้วยวิศวกรรมผิวทางอย่างยั่งยืน  และวิศวกรรมชั้นโครงสร้างอย่างยั่งยืน 
 
 
    “วิศวกรรมผิวทางอย่างยั่งยืน” เป็นการพัฒนาผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตและคอนกรีต ให้มีความคงทนแข็งแรงและอายุการใช้งานที่ยาวนาน
การพัฒนาผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การเติมสารผสมเพิ่ม (Additives) ได้แก่ 1) แอสฟัลต์คอนกรีตการเสริมเส้นใย โดยใช้เส้นใย Aramid ร่วมกับ Polyolefin เติมลงในแอสฟัลต์คอนกรีตเพื่อเพิ่มสมรรถนะของผิวทาง เส้นใย Aramid มีคุณสมบัติทนทานต่อความร้อน การฉีกขาด และสารละลายออร์แกนิค การใช้งานเส้นใย Aramid ร่วมกับ Polyolefin จะมีลักษณะการจัดเรียงตัวของโครงสร้างที่ดีในแอสฟัลคอนกรีต และยังส่งผลดีทางด้านเศรษฐศาสตร์เนื่องจากเส้นใย Polyolefin มีราคาถูก การเสริมเส้นใย Aramid และเส้นใย Polyolefin อัตราส่วน 60/40 ในปริมาณร้อยละ 0.05 ของน้ำหนักรวมของส่วนผสม สามารถปรับปรุง เสถียรภาพ (Marshall stability) แรงดึงทางอ้อม (Indirect tensile strength) โมดูลัสยืดหยุ่น (Resilient modulus) โมดูลัสความแกร่ง (Stiffness modulus) การยุบตัวถาวร (Permanent deformation) อายุความล้า (Fatigue life) และความต้านทานต่อการเกิดร่องล้อ (Pavement rutting resistance) ของแอสฟัลต์คอนกรีตที่ใช้โดยทั่วไป (AC60/70) ให้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้อายุการใช้งานของผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตยาวนานขึ้น 2) แอสฟัลต์คอนกรีตปรับปรุงด้วยสารละลายโพลิสามารถทำได้ทั้งการใช้ยางธรรมชาติ ได้แก่ น้ำยางพารา ซึ่งเรียกว่า แอสฟัลต์คอนกรีตปรับปรุงด้วยยางธรรมชาติ (Natural rubber-modified asphalt, NRMA) และการใช้โพลิเมอร์สังเคราะห์ ซึ่งเรียกว่าแอสฟัลต์คอนกรีตปรับปรุงด้วยโพลิเมอร์ (Polymer-modified asphalt, PMA) การเติมสารละลายโพลิเมอร์ทั้งสองชนิดช่วยให้สมรรถนะและอายุการใช้งานของผิวทางสูงขึ้น ส่วนที่ 2 การปรับขนาดคละของมวลรวมในแอสฟัลต์คอนกรีต โดยการออกแบบด้วยวิธี AC Duopave ซึ่งใช้มวลรวมที่มีความหยาบพิเศษ เพื่อให้เกิดการเรียงตัวแบบ Stone to stone skeleton สามารถช่วยลดการเกิดร่องล้อเนื่องจากการเคลื่อนตัวของมวลรวมขณะรับน้าหนักกระทำซ้ำ แอสฟัลต์คอนกรีต AC Duopave มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาผิวจราจรด้านความขรุขระได้ถึงสองเท่า และด้านรอยแตกได้ประมาณร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับแอสฟัลต์คอนกรีตมาร์แชล ซึ่งเป็นผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตที่ใช้ในปัจจุบัน ผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต AC Duopave มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตมาร์แชล ทั้งในทางวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ และสามารถใช้เป็นผิวทางจราจรทางเลือกที่ยั่งยืนของถนนทางหลวง
การพัฒนาผิวทางคอนกรีต ทำโดยการการเติมสาร Polyvinyl Alcohol (PVA) ในคอนกรีตในปริมาณที่เหมาะสม  เพื่อเพิ่มกำลังรับแรงดัดและความทนทานของคอนกรีต ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งต่ออายุการใช้งาน 
นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผิวทางให้มีความคงทนแข็งแรงมีการประยุกต์ใช้จริงกับถนนทางหลวงชนบท และหากนำมาประยุกต์ใช้จริงกับถนนทางหลวงชนบททุกเส้นของประเทศจะช่วยลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงผิวทางได้มากถึง 4,400 ล้านบาทต่อปี
 
     ส่วน “วิศวกรรมชั้นโครงสร้างทางอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การประยุกต์ใช้วัสดุเหลือทิ้งและกากอุตสาหกรรม เช่น เศษคอนกรีต เศษแก้ว เศษแอสฟัลต์คอนกรีต ตะกรันเหล็ก เถ้าลอย และกากแคลเซียมคาร์ไบด์ เป็นต้น เป็นวัสดุโครงสร้างทาง และส่วนที่ 2 การปรับปรุงวัสดุด้อยคุณภาพ/วัสดุเหลือทิ้งและกากอุตสาหกรรม เพื่อให้มีคุณสมบัติทางวิศวกรรมที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นวัสดุโครงสร้างทาง โดยปรับปรุงด้วย ปูนซีเมนต์ ปูนซีเมนต์ผสมยางอิมัลชั่น และจีโอพอลิเมอร์ ผลงานนี้ เป็นแนวทางสำหรับนักวิจัยและวิศวกร เพื่อประเมินความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้วัสดุเหลือทิ้งและกากอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้างชั้นโครงสร้างทาง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง นอกจากนี้เทคโนโลยีการปรับปรุงวัสดุด้อยคุณภาพ/วัสดุเหลือทิ้งและกากอุตสาหกรรมที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นเพื่อทดแทนวัสดุโครงสร้างทางจากแหล่งที่อยู่ห่างไกลและมีราคาสูง ยังช่วยลดงบประมาณในการขนส่งซึ่งส่งผลให้งบประมาณในการก่อสร้างถนนลดลง  
ผลงานทั้งสองเรื่องนี้ ได้ศึกษาร่วมกับกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท  ซึ่งหากนำมาประยุกต์ใช้จริงกับถนนทุกเส้นทางของประเทศจะช่วยลดงบประมาณของกระทรวงคมนาคมได้มากถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี
 
 
อนึ่ง ผลงานวิจัยของ มทส. ได้รับรางวัลการประกวดนิทรรศการในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ มาแล้วจำนวน 3 ประเภทรางวัล ดังนี้
1.) Platinum Award จำนวน 4 ครั้ง คือ
ปี 2555 จากผลงานวิจัย “งานวิจัยเพื่อการเกษตร”
ปี 2556 จาก “ผลงานวิจัยเชิงประยุกต์ ด้านเศรษฐกิจ”
ปี 2560 จากผลงานวิจัย “มันสำปะหลังเพื่ออุตสาหกรรมอาหารและพลาสติกชีวภาพ” 
ปี 2561 จากผลงานวิจัย “เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์สามมิติ และเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์”
 
2.) รางวัล Gold Award จำนวน 2 ครั้ง คือ
ปี 2554 จากผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร 
ปี 2559 จากผลงานวิจัยโคพันธุ์โคราชวากิว ให้เนื้อนุ่ม ไขมันแทรกสูง เพิ่มกำไรให้เกษตร
 
3.) รางวัล Silver Award จำนวน 2 ครั้ง คือ
ปี 2553 จากผลงานวิจัยสินค้าเกษตรและอาหารที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
และล่าสุดปี 2562 จากผลงานวิจัย “นวัตกรรมถนนอย่างยั่งยืน”
 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง