มทส. จับมือ บ. สยามแทรกเตอร์ฯ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และวิจัยนวัตกรรมเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์

ศูนย์บรรณสาร

มทส. จับมือ บ. สยามแทรกเตอร์ฯ

พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และวิจัยนวัตกรรมเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์
 

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ลงนามความร่วมมือกับ  บริษัท สยามแทรกเตอร์ 289 จำกัด  ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องจักรกลเกษตร กระบอกไฮดรอลิก และอุปกรณ์ต่อพ่วงรายใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา และภาคอีสาน เพื่อร่วมการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย และผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดเเรงงานอยู่เสมอ การเสริมศักยภาพบุคลากรทั้งสองฝ่ายผ่านการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในเชิงพาณิชย์

  

วันนี้ (19 มีนาคม 2562) เวลา 10.00 น.ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. พร้อมด้วย นายภูเบศ  โชติถาวรศักดิ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแทรกเตอร์ 289 จำกัด    ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน  โดยมี รองศาสตราจารย์ เรืออากาศเอก ดร.กนต์ธร  ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พยุงศักดิ์  จุลยุเสน หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร มทส. ลงนามเป็นสักขีพยาน และคณะผู้บริหารจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเป็นเกียรติ

 

               รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส.  เปิดเผยว่า “จากการสั่งสมองค์ความรู้ด้านวิชาการของการเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างกำลังคนคุณภาพป้อนตลาดแรงงานที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาผลงานวิจัยนวัตกรรมสู่ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมของประเทศ มทส. มีความมุ่งมั่นในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง  ภายใต้บันทึกความร่วมมือกับ บริษัท สยามแทรกเตอร์ 289 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท SME ของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องจักรกลเกษตร กระบอกไฮดรอลิกและอุปกรณ์ต่อพ่วงรายใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   จึงถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัยในการที่จะร่วมกันผลิตวิศวกรคุณภาพ ที่ตรงต่อความต้องการของภาคธุรกิจ การวางแนวทางร่วมกันปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะเสริมทั้งด้านทักษะความรู้และความชำนาญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21  เช่น ทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสารระดับสากล เป็นภาษาที่สอง เช่นภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน ในระดับที่สื่อสารได้ดี ทักษะในแปลงภาคทฤษฎีสู่การปฏิบัติงานได้จริง การทำงานทีม การอยู่ร่วมในสังคมผ่านระบบสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ หรือ Cooperative Education ซึ่ง มทส. เป็นสถาบันอุดมศึกษาแรกของไทยที่ได้บุกเบิกและพัฒนาหลักสูตรนี้กระทั่งเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการทั่วประเทศเพื่อสร้างบัณฑิตคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของตลาดเเรงงานอยู่เสมอ  เกิดการพัฒนาศักยภาพของพนักงานบริษัทด้วยการเพิ่มพูนความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับคำปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย หรือการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา    ร่วมถึงการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรภายในของทั้งสองฝ่ายผ่านการฝึกอบรม  การร่วมสร้างสรรค์พัฒนาผลงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี SUT Re-profile 2020 ในการที่จะสร้างสรรค์ผลงานวิจัย นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม  นำไปสู่การพัฒนาของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป”

 

 

 ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.

19 มีนาคม 2562

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง