มทส. อันดับ 1 กลุ่ม ม.เฉพาะทาง sci. & tech. 2 ปีซ้อน ขยับขึ้นอันดับ 6 ม.ไทย จากการจัดอันดับ Webometrics ประเทศสเปน

ศูนย์บรรณสาร

มทส. อันดับ 1 กลุ่ม ม.เฉพาะทาง sci. & tech. 2 ปีซ้อน

ขยับขึ้นอันดับ 6 ม.ไทย จากการจัดอันดับ Webometrics ประเทศสเปน

 

            มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศไทย อันดับที่ 248 ของเอเชีย และอันดับที่ 1,054 ของโลก จากผลการจัดอันดับ “2019 Ranking Web of Universities” โดย Webometrics ประเทศสเปน โดยเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ย้ำศักยภาพและความสามารถในการเป็นมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university) สู่ความเป็นสากล

ตารางการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยใน Webometrics

 

                 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า “ผลการจัดอันดับ "Webometrics Ranking of World Universities" จัดทำโดย Cybermetrics Lab กลุ่มวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศสเปน ซึ่งมีการประกาศผลการจัดอันดับเว็บไซต์ช่วงเดือนมกราคมและกรกฎาคมของทุกปี ทางเว็บไซต์ www.webometrics.info ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา ได้ประกาศผลการจัดอันดับเว็บไซต์มหาวิทยาลัยทั่วโลก โดย มทส. อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศไทย อันดับที่ 248 ของเอเชีย และอันดับที่ 1,054 ของโลก เมื่อเทียบกับปี 2561 อันดับของประเทศไทยและอันดับของเอเชียขยับสูงขึ้นมาหนึ่งอันดับ ในขณะที่อันดับโลกขยับสูงขึ้น 18 อันดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว พบว่า มทส. อยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศไทย เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งเมื่อดูภาพรวมย้อนหลัง 5 ปี มทส. อยู่ในกลุ่มท็อป 10 ของประเทศเสมอ

             มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพเพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล การกระตุ้นให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยมีการแสดงข้อมูลและความรู้ผ่านทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในโลก  สะท้อนถึงความสามารถในการผลิต Web Publication และศักยภาพผลงานทางวิชาการที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางหนึ่งที่บ่งบอกถึงขีดความสามารถในการเป็นมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university) ได้เป็นอย่างดี” อธิการบดี มทส. กล่าวในที่สุด

 

           ทั้งนี้ การจัดอันดับเว็บไซต์นั้นเพื่อวัดผลงานทางวิชาการที่มีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากผลงานที่มีการตีพิมพ์ลงในวารสารหรืออื่น ๆ วัดความสามารถในการเป็น "มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university)" และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยการจัดอันดับมีตัวชี้วัดหลัก 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ PRESENCE (5%) วัดค่าคะแนนจากจำนวนเว็บเพจ ไดนามิคเพจ ในเซิร์ฟเวอร์เดียวกัน รวมถึง Rich File เช่น PDF ที่ค้นหาเจอได้จาก Google Search Engine 2. VISIBILITY (50%) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ Webometrics ให้ค่าคะแนนมากที่สุด วัดจำนวนเครือข่ายภายนอก (external networks (subnets)) จากผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลในเว็บไซต์จำนวน 2 ค่าย ได้แก่ Ahrefs และ Majestic แล้วนำมาเปรียบเทียบกับ Backlinks ที่สอดคล้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ของแต่ละสถาบัน 3. TRANSPARENCE หรือ OPENNESS (10%) วัดจำนวนงานทางด้านวิชาการที่ถูกอ้างอิงใน Google Scholar Citations ของแต่ละมหาวิทยาลัย 4. EXCELLENCE หรือ SCHOLAR (35%) วัดค่าคะแนนจากข้อมูลของ Scimago ที่เป็นองค์กรรวบรวมผลงานทางด้านวิชาการจากหลาย ๆ แหล่งที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถอ้างอิงได้ เช่น Scopus โดยคำนวณจาก 10% ของผลงานวิชาการที่ถูกอ้างอิงสูงที่สุด นับย้อนหลัง 5 ปี

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

1 กุมภาพันธ์ 2562

ที่มา: http://www.webometrics.info/en/Asia/thailand

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง