มทส. จับมือ อพวช. ตั้งจัตุรัสวิทยาศาสตร์ @อุทยานการเรียนรู้สิรินธร ร่วมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตด้านวิทยาศาสตร์แห่งใหม่ของอีสาน

ศูนย์บรรณสาร

มทส. จับมือ อพวช. ตั้ง“จัตุรัสวิทยาศาสตร์ @อุทยานการเรียนรู้สิรินธร”

ร่วมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตด้านวิทยาศาสตร์แห่งใหม่ของอีสาน

 สร้างแรงบันดาลใจพร้อมขับเคลื่อนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้เยาวชน

 

วันนี้ ( 11 กรกฎาคม 2561 ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันในการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ภายใต้โครงการ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ @อุทยานการเรียนรู้สิรินธร นครราชสีมา”  โดย ผศ. ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. และ รศ. ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ  อธิการบดี มทส. ร่วมลงนาม ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น จ.ขอนแก่น โดยมี ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานสักขีพยานในพิธี ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า  การพัฒนาจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงวิทย์ในโครงการวิทย์สร้างคน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้วิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของคนรุ่นใหม่สู่ศตวรรษที่ 21 มุ่งขยายโอกาสให้กับเยาวชนทั้งประเทศให้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ รวมทั้งสื่อการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ทันสมัย และฝึกทักษะด้านการคิดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจสู่อาชีพวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เป็น Coding Nation และ Makers Nation ในอนาคต ซึ่งความร่วมมือของ มทส. และ อพวช. ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะขับเคลื่อนส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค สำหรับเด็ก ๆ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และครอบครัว ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ได้เปิดมุมมองใหม่ สนุกสนานกับประสบการณ์เรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน ได้ปลูกฝังทัศนคติที่ดีในด้านวิทยาศาสตร์ เพราะอนาคตข้างหน้า สังคมไทยต้องมีบุคลากรที่เข้มแข็ง เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคต

 

รศ. ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ  อธิการบดี มทส.  กล่าวว่า “ความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่าง อพวช. และ มทส.ภายใต้โครงการ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ @อุทยานการเรียนรู้สิรินธร นครราชสีมา” จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กเยาวชน และประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่  เกิดการร่วมกันใช้ทรัพยากรและความสามารถ  ตามภารกิจหลักของหน่วยงานทั้งสององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้อย่างทั่วถึง

สำหรับ มทส. มีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ อาคารกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นอาคารถาวรสำหรับจัดแสดงชุดนิทรรศการ มีโครงสร้างพื้นฐานก่อนติดตั้งนิทรรศการ ขนาดพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร ลานอเนกประสงค์ จำนวน 2 ลาน รวมพื้นที่ 1,280 ตารางเมตร และสวนหย่อมขนาด 1,000 ตารางเมตร จึงมีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม   โดยจะได้ร่วมมือกับ อพวช. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเนื้อหา การสร้างสรรค์สื่อนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาบุคลากร ด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนากิจกรรม การจัดการแหล่งเรียนรู้ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาเนื้อหานิทรรศการ วางแผนกิจกรรม รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ การจัดภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้บริการ นอกจากนี้ จะร่วมกันแสวงหาพันธมิตรในการสร้างโอกาสแก่เยาวชนและนักเรียนด้อยโอกาสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพวิทยาศาสตร์ในอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

“ผมคิดว่าความร่วมมือในโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาคครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่เราจะขับเคลื่อนและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค ให้กับเด็ก ๆ เยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เปิดมุมมองใหม่ สนุกสนานกับประสบการณ์เรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน ปลูกฝังทัศนคติที่ดีในด้านวิทยาศาสตร์ และเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับสังคมไทย ได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคต และมีความยั่งยืนต่อไป” อธิการบดี มทส.กล่าว

 

ทางด้าน ผศ. ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า โครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เกิดขึ้นภายใต้แรงขับเคลื่อนจากนโยบาย “วิทย์สร้างคน” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดาราศาสตร์ การร่วมมือกับ มทส. ในการพัฒนาจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งใหม่ของเยาวชนและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะร่วมกันใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านพัฒนาบุคลากร การศึกษาวิจัย การพัฒนากิจกรรม การจัดการแหล่งเรียนรู้ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดกิจกรรมและนิทรรศการ รวมทั้งสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์สู่การให้บริการเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ มทส. แห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตด้านวิทยาศาสตร์แห่งใหม่ของภูมิภาคต่อไป

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

11 กรกฎาคม 2561

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง