มทส. ก้าวขึ้นอันดับ 4 ม.ไทย จาก THE จัดอันดับ ม.ชั้นนำประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

มทส.  ก้าวขึ้นอันดับ 4  ม.ไทย

จาก THE จัดอันดับ ม.ชั้นนำประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

มทส. ก้าวขึ้นอันดับ 4 มหาวิทยาลัยไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดย THE สำนักจัดอันดับชื่อดังของโลก ขยับขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีที่ผ่านมา   ทั้งนี้มีสถาบันอุดมศึกษาจาก 42 ประเทศทั่วโลกที่ถูกจัดอยู่ใน 350 อันดับแรกของกลุ่มดังกล่าว ตอกย้ำภาพลักษณ์และพัฒนาการของการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่พร้อมเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ และมีผลงานวิชาการสู่ระดับสากล

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา Times Higher Education หรือ THE สถาบันในการจัดอันดับชั้นนำของโลกได้ประกาศการจัดอันดับที่สำคัญที่เรียกว่าTimes Higher Education (THE) Emerging Economies University Rankings 2018 หรือ การประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economy Country) ประจำปี 2018 โดยในปีนี้ มทส.  ติดอันดับที่ 177 มหาวิทยาลัยชั้นนำสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย สูงขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีที่ผ่านมา โดย  มทส. ติดอันดับร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 10 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

การจัดอันดับ Times Higher Education (THE) Emerging Economies University Rankings ประจำปี 2018 สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในปีนี้ THE ได้ทำการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาจาก 48 ประเทศทั่วโลก ที่ถูกจัดแบ่งประเภทโดยสถาบัน FTSE (http://www.ftserussell.com) ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เปรู ชิลี โคลัมเบีย สาธารรัฐเชค ฮังการี มาเลเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก โปแลนด์ ตุรกี และไทย เป็นต้น (http://www.wealthwire.com/news/global/2790) ทั้งนี้ มีสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 350 มหาวิทยาลัย จาก 42 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

การจัดอันดับดังกล่าว เป็นการวัดความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาในทุกภารกิจหลัก ได้แก่ การสอน การวิจัย การถ่ายทอดความรู้ และภาพรวมของความเป็นนานาชาติ  โดยค่าน้ำหนักคะแนนจะมีสัดส่วนสูงมากขึ้นในด้านการเชื่อมโยงของมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมและด้านการเป็นนานาชาติ  เมื่อเทียบกับค่าน้ำหนักคะแนนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2018 (Times Higher Education World University Rankings 2018) โดยประกอบด้วย 13 ตัวบ่งชี้ จาก 5 ด้าน เช่นเดียวกัน ได้แก่ 1) Teaching: The learning environment คุณภาพการสอน สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียน และสัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา ใช้อ้างอิง 30% 2) Research: Volume, Income and Reputation คุณภาพงานวิจัย ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียงของงานวิจัย 30% 3) Citations: Research Influence การอ้างอิงในงานวิจัย การนำงานวิจัยของสถาบันไปใช้ 20% 4) International Outlook: Staff, Students and Research ความเป็นนานาชาติ บุคลากร นักศึกษา และงานวิจัยระดับนานาชาติ 10% และ 5) Industry Income: Knowledge Transfer รายได้ทางอุตสาหกรรม การถ่ายทอดความรู้ที่เป็นสิ่งใหม่ในวงวิชาการที่มหาวิทยาลัยได้คิดค้นขึ้น 10%

และเมื่อเทียบกับผลการจัดอันดับ ใน 2 ปีที่ผ่านมา (Times Higher Education BRICS & Emerging Economies Rankings 2016-2017) พบว่า มทส. ได้รับคะแนนสูงขึ้นในคะแนนภาพรวม และคะแนนในด้านย่อย 4 ด้าน ได้แก่ การสอน (สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้) การอ้างอิง (ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียง) รายได้จากภาคอุตสาหกรรม (การถ่ายโอนความรู้) และความเป็นนานาชาติ (บุคลากร นักศึกษา การวิจัย) ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพของการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐานสากล ศักยภาพของคณาจารย์และบุคลากรในการผลิตผลงานวิจัยคุณภาพสูง  และการปรับแปลงถ่ายทอดเทคโนโลยีและการบริการวิชาการสู่ชุมชนของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

 

“ผลการจัดอันดับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงมีศักยภาพความเข้มแข็งทางด้านวิชาการในระดับมาตรฐานสากลของ มทส. อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายคงต้องร่วมกันทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อการขึ้น Slope  ของ S-Curve ตัวใหม่ ที่แสดงถึงความสำเร็จที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ก้าวสู่ความสำเร็จในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของไทย ที่พร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เป็นแหล่งสร้างสรรค์ความรู้คู่เคียงสังคม มุ่งสู่ความเป็น World Class University  เพื่อสร้างคนสร้างนวัตกรรม ผลิตบัณฑิตพร้อมทำงาน ที่มีความรู้ในวิชาชีพตรงตามความต้องการตลาดแรงงานและสังคมโลกต่อไป” อธิการบดี มทส. กล่าวในที่สุด

ที่มา: https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2018/emerging-economies-university-rankings

 

 

ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.

10 พฤษภาคม 2561

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง