มทส. ร่วมแต่งผ้าไทยรดน้ำขอพรวันสงกรานต์ สืบสานประเพณีไทย

 

มทส. ร่วมแต่งผ้าไทยรดน้ำขอพรวันสงกรานต์ สืบสานประเพณีไทย

 

สโมสรเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดกิจกรรมสืบสาน  “งานประเพณีสงกรานต์ 2561”  โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ นายกสโมสรเทคโนโลยีสุรนารี ได้นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา รดน้ำขอพรจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. ในการนี้ บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ต่างพร้อมใจแต่งกายด้วยผ้าไทยรวมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ สืบสานงานประเพณีของไทย และเสริมสิริมงคลชีวิต ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานยังประกอบไปด้วย การประกวดเทพีสงกรานต์ และร่วมรับประทานอาหารจากซุ้มของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย กว่า 30 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561   ณ อาคารสุรพัฒน์ 2

 ในโอกาสนี้ อธิการบดี มทส. ได้กล่าวอำนวยพรเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่แก่บุคลากรและนักศึกษา  โดยยกหลักธรรมะจากหนังสือ “คู่มือชีวิต”  ของท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. ปยุตโต) ว่าด้วยความสุขของปุถุชนและหนทางปฎิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ด้วยความสุข 5 ขั้น คือ 

ขั้นที่ 1 คือ ความสุขจากการได้มาซึ่งวัตถุหรือการเสพวัตถุภายนอก ที่นำมาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้อนี้เป็นความสุขสามัญที่ทุกคนในโลกปรารถนากันมาก แต่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่าเราควรเสพอย่างมีสติ เพราะมันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง สิ่งที่คนเราพยายามกันมากก็คือ การพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ลืมไป คือการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ยิ่งอยู่ไปนานๆ สุดท้ายแล้วท่านจะไม่มีความสุขเหลืออยู่เลย สูญเสียอิสรภาพและการบริหารความสุขในที่สุด เราจึงต้องพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการพัฒนาให้มีความสุข พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ว่า ทำอย่างไรเราจะมีความสุขได้ง่าย ฝึกฝนตัวเอง อย่าให้ความสุขต้องขึ้นกับวัตถุมากเกินไป การรักษาศีล 5 เป็นตัวอย่างของวิธีฝึกและสอนเราว่า ให้เราเบียดเบียนผู้อื่นให้น้อยลง ถ้าเพิ่มมาอีก 3 ข้อ ก็เป็นศีล 8 ซึ่งสอนว่า ความสุขของเราไม่ต้องพึ่งการบำรุงบำเรอทางกายด้วยวัตถุ ถ้าทำได้แล้ว เราจะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงที่เรามีมันพอดีพอควรหรือยัง แบบไม่บีบตัวเองและไม่เบียดเบียนผู้อื่นมากมายนัก อยากให้ท่องคำนี้ไว้นะครับ “ความสุขที่ท่านมี เมื่อมีก็ดี ไม่มีก็ได้” และสุดท้ายอยากให้พัฒนาขึ้นไปถึงขั้น "มีก็ได้ ไม่มีก็ดี"

ขั้นที่ 2 คือ ความสุขจากการเจริญคุณธรรม มีเมตตากรุณา ครูบาอาจารย์คงสัมผัสความสุขจากการให้แก่ศิษย์ พ่อแม่มีความสุขเมื่อให้แก่ลูก ความสุขประเภทนี้คือความสุขเมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข ความสุขจากการให้ นับเป็นความสุขที่โอ่โถง กว้างขวาง และสูงส่งด้วยประการทั้งปวง นอกจากนี้ การบำเพ็ญตนและการเจริญในคุณธรรมที่พัฒนาขึ้นมาในใจ เช่น เมตตากรุณา ศรัทธา ก็ทำให้เรามีความสุขจากการให้ด้วยเช่นกัน

ขั้นที่ 3 คือ ความสุขเกิดจากการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมติ ที่ผ่านมานั้นเราอยู่ในโลกของสมมติมาก และบางทีเราก็หลงไปกับความสุขในโลกของสมมตินั้น อยู่ด้วยความหวัง สุขจากสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน

ขั้นที่ 4 คือ ความสุขจากความสามารถปรุงแต่งให้จิตมีความสุข คนเรานี้มีความสามารถในการปรุงแต่ง ปรุงแต่งทุกข์ก็ได้ ปรุงแต่งสุขก็ได้ ที่สำคัญก็คือในใจของเราเอง พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักใช้ความสามารถในการปรุงแต่ง แทนที่จะปรุงทุกข์ ก็ปรุงสุขเสีย เก็บเอาแต่อารมณ์ที่ดีมาปรุงแต่งใจให้สบาย มีความเบิกบาน และโปร่งเบาในจิตใจ

ขั้นที่ 5 คือ ถือเป็นความสุขขั้นสุด คือ ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คราวนี้ไม่ต้องปรุงแต่ง คือสุขด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันความจริงของโลก เข้าถึง เข้าใจโลก และใช้ชีวิตตามเป็นจริงด้วยปัญญา เห็นแจ้ง ทำให้วางจิตวางใจลง โปร่งเบา เบิกบานกับทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความสุขเต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องค้นหาจากภายนอก เป็นสุขเหนือการปรุงแต่งทั้งมวล รู้แจ้ง เห็นจริง คนที่พัฒนาความสุขมาถึงขึ้นสุดท้ายแล้วนี้ เป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุขทุกอย่างในประเภท 4, 3, 2 และ 1 ที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เราก็จะรู้จักความสุขในการดำเนินชีวิตมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง