มทส. ติดอันดับ 4 ของประเทศ เผยแพร่บทความวิจัยใน Nature วารสารระดับโลก

มทส. ติดอันดับ 4 ของประเทศ เผยแพร่บทความวิจัยใน Nature วารสารระดับโลก 

ชูธง  3 โครงการเร่งด่วนยกระดับและสร้างกลไกการสนับสนุนระบบนิเวศน์การวิจัย

 

Nature หนึ่งในวารสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลก จัดอันดับบทความวิจัยจากนักวิจัยทั่วโลกที่ได้รับการเผยแพร่ภายในเครือ Nature Publishing Group โดยผลจัดอันดับของ Nature Index ในประเทศไทย ซึ่งนับจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ต่อปีในวารสารในเครือ Nature Publishing Group  และวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสูง ประจำปี 2017  รวมจำนวน 68 วารสาร มาจัดอันดับ มทส. ได้รับการจัด เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย รองจากมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีอันดับสูงขึ้นจากปี 2016 ที่อยู่อันดับที่ 5 ของประเทศ ด้านอธิการบดี มทส. ปลื้มบทความที่ได้รับการเผยแพร่แสดงถึงศักยภาพด้านการวิจัยของคณาจารย์ ย้ำมหาวิทยาลัยยังคงมาตรการเชิงรุกด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Full time Researcher การจัดตั้งกองทุนพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และการยกระดับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (CoE) ให้เป็นสถาบันวิจัยเฉพาะทาง  

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เผยว่า การจัดอันดับของวารสาร Nature ประจำปี 2017  โดยรวบรวมอันดับบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารในเครือ Nature Publishing Group (NPG) และในวารสารชั้นนำของโลก โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2559  แยกเป็นวารสารตามสาขาแขนงต่าง ๆ  4 ด้านคือ Earth & Environmental Sciences, Physical Sciences, Chemistry และ Life Sciences รวม 68 วารสาร อาทิ Nature, Science, Nano Letters, Advanced Materials, Analytical Chemistry, Journal of Biological Chemistry, Physical Review Letters, และ Applied Physics Letters เป็นต้น ทั้งนี้ วารสาร Nature ถือเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการระดับโลก มีค่า Impact Factor สูงติดอันดับ Top 10 ของโลก ดังนั้น บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารดังกล่าวจึงถือเป็นบทความที่มีคุณภาพในระดับสากล ผลักดัน  3 โครงการเร่งด่วนยกระดับงานวิจัย

 

การจัดอันดับครั้งนี้มีตัวชี้วัด แบ่งได้เป็นจำนวนบทความวิจัย Article Count (AC) ค่าความเป็นเจ้าของผลงานวิจัย Fractional Count (FC) และค่าความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยโดยมีการให้ความสำคัญกับวารสารแตกต่างกัน Weighted Fractional Count (WFC)  สำหรับผลการจัดอันดับ Nature Index อันดับ 1- 3 ของโลก ได้แก่ Chinese Academy of Sciences (CAS) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน  Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Max Planck Society ประเทศเยอรมนี ตามลำดับ ส่วนอันดับในประเทศไทย  ในภาพรวมนักวิจัยของ มทส. ได้รับการเผยแพร่บทความวิจัย จำนวน 20  เรื่องเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รองจากมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร โดย มทส. มีค่า AC= 20 ค่า WFC= 1.62 

 

“การที่คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับในวารสารระดับโลก ในระยะเวลาก่อตั้งเพียง 27 ปีที่ผ่านมา แสดงถึงศักยภาพด้านการวิจัยของคณาจารย์ และมหาวิทยาลัยยังคงมาตรการเชิงรุกด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนจัดสรรเครื่องมืออุปกรณ์วิจัยที่ทันสมัย การสร้างเครือข่ายวิจัยร่วมกับห้องปฏิบัติการวิจัยระดับโลก อาทิ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (European Organization for Nuclear Research; CERN)  ประเทศฝรั่งเศส สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (Institute of High Energy Physics, IHEP) สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น และการกำหนดยุทธศาสต์การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University) ที่จะสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  และนวัตกรรม ให้กับประเทศต่อไป โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้เตรียมผลักดันโครงการเร่งด่วน 3 โครงการ คือ การส่งเสริมให้มี Full time Researcher เพื่อยกระดับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม สร้างรูปแบบบริหารจัดการนักวิจัย การจัดตั้งกองทุนพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Development and Transfer Fund) เพื่อให้การสนับสนุนต่อยอดงานวิจัยที่มีศักยภาพ เพื่อยกระดับไปสู่นวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคม และการยกระดับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (CoE) ให้เป็นสถาบันวิจัยเฉพาะทาง โดยจัดตั้งคณะกรรมการบริหารศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT- CoE Super Board) ทำหน้าที่จะผลักดันให้ CoE ทั้ง 5 สามารถยกระดับเป็นสถาบันวิจัยเฉพาะทาง และสร้างกลไกการสนับสนุนให้เกิด CoE ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ  การขับเคลื่อนทั้ง 3 โครงการนี้ จะเป็นการเริ่มต้นการสร้างระบบนิเวศน์การวิจัยของมหาวิทยาลัย และจะมี platform อื่น ๆ ที่จะสนับสนุนให้ มทส. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยอย่างเต็มรูปแบบต่อไป” อธิการบดี มทส. กล่าวในที่สุด

 

 

https://www.natureindex.com/annual-tables/2017/institution/all/all/countries-Thailand

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

1 พฤศจิกายน 2560


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง