มทส. เปิดตัวการสอนแบบ Personalized Module ด้านศาสตร์และศิลป์ดิจิทัล ครบ ตรี โท เอก จบมอดูลสะสมหน่วยกิตได้

     มทส. เปิดตัวการสอนแบบ Personalized Module ด้านศาสตร์และศิลป์ดิจิทัล ครบ ตรี โท เอก แห่งแรกในไทย  จบมอดูลได้สัมฤทธิบัตรแสดงสมรรถนะและสะสมเข้าคลังหน่วยกิตได้


      มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ต่อยอดการจัดการเรียนการสอนแบบ Personalized Module จากปริญญาตรีสู่ปริญญาโทและเอกครบทั้งระบบ เริ่มแล้วที่สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลและนิเทศศาสตร์ดิจิทัล  เรียนได้ทุกช่วงวัย  เรียนจบแต่ละมอดูลและสอบวัดสมรรถนะผ่านสามารถรับสัมฤทธิบัตรและสะสมเข้าคลังหน่วยกิตได้ไม่จำกัดระยะเวลาการศึกษา

    หลังจากที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านเทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบใหม่  2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) และสาขาวิชานิเทศศาสตร์ดิจิทัล (Digital Communication) ภายใต้ชื่อกลุ่มหลักสูตรศาสตร์และศิลป์ดิจิทัล โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบมอดูลหรือชุดวิชา (Modular Program) ทําให้ผู้เรียนได้รับทักษะและความรู้แบบเบ็ดเสร็จ สามารถเลือกเรียนตามกลุ่มวิชาชีพที่สนใจ (Personalization) พัฒนาทักษะที่จําเป็น ให้สามารถทํางานได้จริง เมื่อผ่านแต่ละมอดูลจะได้รับสัมฤทธิบัตรแสดงสมรรถนะสำหรับนำไปสมัครงานหรือประกอบวิชาชีพ หลักสูตรได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคอุตสาหกรรม มีนักเรียนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยในปีการศึกษาแรกของการเปิดรับ คือปีการศึกษา 2563 มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าศึกษากว่า 200 คน

    จากกระแสการตอบรับดังกล่าว  มหาวิทยาลัยฯ จึงได้ต่อยอดการเรียนการสอนในรูปแบบมอดูล ไปสู่ระดับปริญญาโทและเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลและนิเทศศาสตร์ดิจิทัล หลักสูตรวิทยาการสารสนเทศมหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เพื่อรองรับความต้องการเพิ่มพูนทักษะ (Up-skill) ปรับเปลี่ยนทักษะ (Re-skill) และพัฒนาทักษะใหม่ (New Skill) ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมสมรรถนะของตนเอง และเพื่อความแข็งแกร่งขององค์กร  นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีเปิดสอนหลักสูตรการศึกษาแบบมอดูล   เต็มรูปแบบครบทุกระดับการศึกษา
 

     รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะผู้อำนวยการโครงการจัดรูปแบบการบริหารวิชาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลรูปใหม่ (DIGITECH)  เปิดเผยว่า หลักสูตรวิทยาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนิเทศศาสตร์ดิจิทัล เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็น 1 ใน 3 ของแรงงานที่เติบโตและเป็นที่ต้องการมากที่สุดในอนาคต

    ซึ่งจากการรายงานของ World Economic Forum (Future of Jobs Report) พบว่ามี 6 อาชีพเกิดใหม่ทางด้านดิจิทัล อาทิ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst and Scientists) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์ (AI and Machine Learning Specialists)  ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับแปลงดิจิทัล (Digital Transformation Specialists)



 

    จุดเด่นของกลุ่มหลักสูตรศาสตร์และศิลป์ดิจิทัล คือการออกแบบหลักสูตรโดยใช้เครปส์โมเดล (CREPES Model) ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาแบบมอดูลที่ผู้เรียนสามารถเลือกได้ตามกลุ่มวิชาชีพที่สนใจ (Personalized Module) แต่ละรายวิชาย่อยในมอดูลสามารถหมุนเวียนใช้ร่วมกันได้ในทั้ง 2 สาขาวิชา โดยแต่ละตัวอักษรของ “CREPES” มาจากรูปแบบการจัดการศึกษาที่ออกแบบใหม่ คือ

  • C- CERTIFICATION: นักศึกษาจะเรียนเป็นมอดูล หรือชุดวิชา โดยหากสอบวัดสมรรถนะผ่านในแต่ละชุดวิชาจะได้รับสัมฤทธิบัตรเพื่อรับรองความสามารถ และเก็บสะสมได้เพื่อขอรับปริญญา
  • R – RE & UP-SKILL: ศิษย์เก่า คนวัยทำงาน หรือนักศึกษาสาขาวิชาอื่น สามารถมาเรียนเพิ่มพูนทักษะ หรือปรับเปลี่ยนทักษะได้ โดยสามารถเลือกเรียนเฉพาะมอดูลที่สนใจได้
  • E - EXPERIENCE BASE: การเน้นทักษะที่ผู้เรียนจะได้รับในแต่ละมอดูล โดยเน้นการพัฒนาโครงงานและนวัตกรรม รวมทั้งเน้นประสบการณ์เฉพาะด้านผ่านการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • P – PERSONALIZATION: นักศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรได้ตามความเหมาะสมของตนเอง โดยมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำในการเลือกมอดูลให้ตรงกับอาชีพที่ต้องการ
  • E – EMERGING EDUTECH: การนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้ในการเรียนการสอน ทั้งการจัดการเรียนการสอนแบบในห้องเรียน ผสมผสานกับ Online Learning และการใช้ Active Learning
  • S – STANDARDIZATION: การออกแบบหลักสูตรตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี ตามประกาศกระทรวงฯ และตามมาตรฐานสากล IEEE และ ACM รวมทั้งเป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทที่ถูกยอมรับในด้านนั้น ๆ

   

 

    ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนเป็นมอดูลหรือชุดวิชา ระดับปริญญาตรี 1 ชุดวิชาประกอบด้วย 3 รายวิชาย่อย รวม 8 หน่วยกิต/ชุดวิชา  ระดับปริญญาโทและเอก 1 ชุดวิชา ประกอบด้วย 4 รายวิชาย่อย รวม 10 หน่วยกิต/ชุดวิชา เมื่อเรียนผ่าน 1 ชุดวิชา ผู้เรียนจะได้รับสัมฤทธิบัตร  เป็นการเปิดโอกาสสำหรับผู้ต้องการเพิ่มพูนหรือปรับเปลี่ยนทักษะเฉพาะด้านแต่ไม่ประสงค์วุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอก  สามารถเรียนได้ตลอดชีวิต ไม่มีการจำกัดระยะเวลาการศึกษา และสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตในคลังหน่วยกิต เพื่อรองรับผู้ที่ประสงค์จะขอรับปริญญา  โดยยังคงเจตนารมณ์ที่จะผลิตมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการวิจัยและพัฒนา นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับการมีจิตสำนึก คุณธรรม และจริยธรรม



 


 

          ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อทั้งระดับปริญญาตรีสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล และสาขาวิชานิเทศศาสตร์ดิจิทัล และระดับปริญญาโท ปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลและนิเทศศาสตร์ดิจิทัล
สามารถศึกษารายละเอียดการรับสมัครและสมัครออนไลน์ได้ทาง http://sutgateway.sut.ac.th/admissions
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://digitech.sut.ac.th  หรือ โทร. 044-223789

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง