มทส. ร่วมกับ มูลนิธิ สอวน. เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20

มทส. ร่วมกับ มูลนิธิ สอวน. เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20
 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดแถลงข่าว “การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. ให้การต้อนรับ และ รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) กล่าวเปิดการแถลงข่าว พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. และ รองศาสตราจารย์ ดร.หนูเดือน  เมืองแสน ผู้แทนหัวหน้าสาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. ร่วมให้รายละเอียดการจัดการแข่งขัน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

 
 
 
 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย ศูนย์ สอวน. มทส. และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิ สอวน. ดำเนินการจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 (The 20th Thailand Biology Olympiad: 20th TBO) ระหว่างวันที่ 3 – 7 เมษายน พ.ศ. 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยจัดการแข่งขันและคัดเลือกนักเรียนที่ผ่านการอบรมจาก สอวน. ค่าย 2 จำนวนทั้งสิ้น 96 คน ประกอบด้วย นักเรียนตัวแทนจากศูนย์ สอวน. 13 ศูนย์ ทั่วประเทศ และนักเรียนจากค่ายของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ฯ (สสวท.) นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ คณาจารย์ผู้แทนจากศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ ได้แก่ หัวหน้าทีม รองหัวหน้าทีม และผู้ช่วยหัวหน้าทีม จำนวน 46 คน ครูสังเกตการณ์จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 5 คน คณะกรรมการจากมูลนิธิ สอวน. สสวท. และ สพฐ. นักศึกษาพี่เลี้ยง คณะกรรมการดำเนินงานจากศูนย์เจ้าภาพ และผู้สังเกตการณ์จากศูนย์เจ้าภาพในปีถัดไป รวมจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 230 คน

 
 
 
 
 
 

สำหรับการแข่งขันมีทั้งการสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติการ โดยใช้ข้อสอบมาตรฐานที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากมูลนิธิ สอวน. คณะกรรมการวิชาการของ มทส. และคณาจารย์ผู้แทนศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ ซึ่งผลคะแนนจากการแข่งขันจะได้รับการพิจารณาจากคณาจารย์ผู้แทนของทุกศูนย์ สอวน. เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใส เกณฑ์คะแนนที่ผ่านมาตรฐานจะถูกพิจารณาจำแนกเป็น 3 ระดับ คือ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง นอกจากนี้ ยังมีระดับเกียรติบัตรพิเศษ 7 รางวัล ได้แก่ คะแนนรวมสูงสุด คะแนนภาคทฤษฎีสูงสุด คะแนนภาคปฏิบัติการสูงสุด คะแนนรวมสูงสุดประจำภาคเหนือ คะแนนรวมสูงสุดประจำภาคใต้ คะแนนรวมสูงสุดประจำภาคกลาง และคะแนนรวมสูงสุดประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนักเรียนผู้มีคะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าอบรมกับค่ายของ สสวท. เพื่อคัดเลือกเป็นนักเรียนตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับนานาชาติต่อไป นอกเหนือจากการแข่งขันแล้ว ยังมีกิจกรรมทัศนศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ. - มทส.) ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา อีกด้วย

 
 
--------------------------------
 
ส่วนประชาสัมพันธ์ 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 
27 มีนาคม 2566

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง