มทส. ร่วมมือ วิสาหกิจชุมชน พัฒนาเชิงพื้นที่แปลงปลูกกัญชาและกัญชง ในโครงการ SUT CANNABIS SANDBOX

มทส. ร่วมมือ วิสาหกิจชุมชน พัฒนาเชิงพื้นที่แปลงปลูกกัญชาและกัญชง 
ในโครงการ SUT CANNABIS SANDBOX
 
 
 
วันนี้ (4 สิงหาคม 2565) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดย โครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ จัดกิจกรรมปลูกกัญชา กัญชง เชิงคุณภาพทางการแพทย์ และการใช้ประโยชน์สร้างเศรษฐกิจ BCG พร้อมมอบต้นกล้าสายพันธุ์กัญชา (THC) และต้นกล้าสายพันธุ์กัญชง (CBD) เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่แปลงปลูกกัญชาและกัญชงในโครงการ SUT CANNABIS SANDBOX ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย รองอธิการบดีฝ่ายการเงิน ทรัพย์สิน และวิสาหกิจ มทส. ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการฯ นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายณัฐชรัตน์ กฤตธน ประธานศูนย์ IIC นายสมศักดิ์ จักสาร ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนศูนย์นวัตกรรมพืชเศรษฐกิจไทย ผู้แทนจากภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชน ร่วมงาน ณ แปลงปลูกกัญชา ฟาร์มวิสาหกิจเพื่อสังคม มทส. 
 
 
 
 
 
 
ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. เผยว่า “โครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ มทส. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีกัญชา กัญชง พืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ สร้างห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา กัญชง การจัดการโรงเรือน การเพาะปลูก บำรุงรักษา เก็บเกี่ยวผลผลิต การสกัดกลั่นสาร THC จากกัญชาที่ออกฤทธิ์ทางยาสูง การถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาทางวิชาการ การแปรรูปผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมา มทส. ได้ส่งมอบผลผลิตกัญชาให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คณะแพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการพัฒนาชุมชน สังคม และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
 
 
 
 
 
ทั้งนี้ มทส. มีเป้าหมายดำเนินโครงการร่วมกับผู้ประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยเปิดกว้างให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเชิงพื้นที่ภายใต้หลักเกณฑ์ SANDBOX ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางสังคม ในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยมอบหมายให้ศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม หรือ ศูนย์ IIC เป็นผู้ประสานในการจับคู่ระหว่างผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ ส่งเสริมให้เกิดบริษัท Startup ที่ต้องการสร้างพื้นที่พัฒนาในเชิงธุรกิจ  นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีทั้งรูปแบบแปลงฟาร์มขนาดใหญ่ พื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และรูปแบบแปลงฟาร์มวิสาหกิจชุมชน ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นต้นแบบนำไปพัฒนาเป็นธุรกิจผลิตพืชเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างมีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ GAP ภายใต้ทีมที่ปรึกษาของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. และ ศูนย์ IIC ซึ่งได้จัดตั้งบริษัท กัญราชา จำกัด มาร่วมดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (AMARC) บริษัท ศูนย์บริหารจัดการธุรกิจแห่งเอเชีย จำกัด (ABMC) และ 9 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการใช้พื้นที่ปลูกกัญชาในรูปแบบโรงเรือน Green House ขนาดพื้นที่ 240 ตารางเมตร จำนวน 17 โรงเรือน และโรงเรือน Evaporative Cooling System ขนาดพื้นที่ 126 ตารางเมตร จำนวน 1 โรงเรือน เพื่อทำการปลูกกัญชาและกัญชง โดยเฉพาะการปลูกสายพันธุ์กัญชา “ฝอยทอง สุรนารี 1” และ สายพันธุ์กัญชง “ชาล็อต แองเจิล และ แคนนาฟลูเอล” โดย มทส. พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่แห่งคุณค่า สร้างความเชื่อมั่นให้กับวิสาหกิจชุมชนที่เป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัย ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการสร้างแพลตฟอร์มในการสร้างกัญชาบนโลกเสมือนจริง หรือ Cannabis Metaverse ซึ่ง มทส. จะใช้กลไกพืชกัญชา กัญชง เป็นต้นแบบในการสร้างพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ พร้อมร่วมผลักดันให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองนวัตกรรมสุขภาพ สบับสนุนโครงการส่งเสริมการปลูกกัญชา 1 ล้านต้น แก้จน ยั่งยืน จังหวัดนครราชสีมา และเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษใหม่ หรือ KORAT WELLNESS CORRIDOOR สอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติฉบับใหม่ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ซึ่งกัญชาและกัญชงจะเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาให้สามารถตอบโจทย์ได้ครบทุกมิติ”
 
 
------------------------------
 
 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง