สายดิบต้องระวัง !! ศูนย์วิจัยโรคปรสิต มทส. ห่วงใยผู้ชื่นชอบอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยงปนเปื้อนพยาธิ

สายดิบต้องระวัง !!

ศูนย์วิจัยโรคปรสิต มทส. ห่วงใยผู้ชื่นชอบอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยงปนเปื้อนพยาธิ

 

ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ย้ำเตือนการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยงมีพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ห่วงใยประชาชนเพิ่มความใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารสะอาด ปลอดภัย ใช้ชีวิตห่างไกลจากโรคภัยที่มีสาเหตุจากปรสิต

 

 

 

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชวัลญ์ญา รัตนพิทูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. เผยว่า ศูนย์วิจัยโรคปรสิต มีบทบาทด้านสนับสนุนการเรียนการสอนและดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับโรคปรสิต (Parasite) พวกพยาธิต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเข้าไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรค เช่น พยาธิใบไม้ตับ ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี พยาธิปากขอ ทำให้โลหิตจาง พยาธิไส้เดือน ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารในเด็ก ลำไส้อุดตัน พยาธิตืดหมู พยาธิตืดวัว ทำให้ปวดท้อง ท้องร่วงเรื้อรัง พยาธิตัวจี๊ด ทำให้เกิดเนื้อเยื่ออักเสบ พยาธิทริคิเนลลา ทำให้ท้องร่วง ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจล้มเหลว ศูนย์วิจัยโรคปรสิตมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน จากความร่วมมือของนักวิจัยหลายกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ ได้มีการนำเสนอเรื่องราวเตือนภัยเกี่ยวกับโรคปรสิตต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การเฝ้าระวังพยาธิเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังในช่วงน้ำท่วมนี้ การกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีความเสี่ยงพยาธิปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ นอกเหนือจากการศึกษาวิจัย การให้ความรู้ สร้างความตระหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง การจัดอบรมอาหารปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้ผลิตอาหาร เช่น การทำปลาร้า ปลาส้ม ให้ปลอดพยาธิและเพิ่มคุณค่าทางอาหาร รวมไปถึงการตรวจรักษาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นพยาธิฟรี ซึ่งเป็นการบริการวิชาการเพื่อให้ประชาชนมี “ชีวิตปลอดภัยไร้ปรสิต”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัธคพัชฬ รัตนพิทูลย์ นักวิจัยศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. กล่าวด้วยว่า ช่องทางหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ คือ ทางปาก จากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนพยาธิ มีตัวอ่อนของพยาธิระยะติดต่อ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวตืดชนิดต่าง ๆ พยาธิใบไม้ตับ พยาธิใบไม้ลำไส้ พยาธิใบไม้ปอด พยาธิตัวจี๊ด ที่อยู่ในอาหารดิบ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ปลา หอย กุ้ง ผักสด และอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยหมู ก้อยเนื้อ ก้อยปลา ก้อยหอย ก้อยกุ้ง ปลาส้ม ปลาดิบ ซาซิมิดังนั้น วิธีป้องกันพยาธิเข้าสู่ร่างกายจากการกิน คือ ดื่มน้ำสะอาด กินอาหารที่ปรุงสุก เลือกวัตถุดิบที่มาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ล้างทำความสะอาด เช่น  แช่และล้างผักด้วยน้ำส้มสายชู หลีกเลี่ยงอาหารดิบหรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เก็บอาหารให้ปลอดจากแมลงและสัตว์พาหนะโรค การเก็บรักษาเนื้อสัตว์ที่อุณหภูมิเย็นจัด เช่น -20 องศาเซลเซียส หรือการใช้ความเค็มอย่างน้อย 10% ในระยะเวลานานพอที่ทำให้ปรสิตตายได้ เหล่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

 

 

 สำหรับการสังเกตอาการสำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นพยาธิหรือไม่นั้น ถ้ามีพยาธิจำนวนน้อยอาจไม่ค่อยแสดงอาการหรือมีอาการคล้ายกับโรคทางเดินอาหารทั่วไป เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เบื่ออาหาร ผอมซีด ทั้งนี้อาการของโรคพยาธิขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด จำนวนตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่ และระยะเวลาในการเป็นโรค ซึ่งหากเป็นกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและดูว่าเกิดจากพยาธิตัวไหน เนื่องจากยารักษามีหลายชนิด เช่น พราซิควอนเทล อัลเบนดาโซล มีเบนดาโซล นิโคลซาไมด์ เพื่อใช้ยาได้ตรงตามประเภทของพยาธิและทำการรักษาได้มีประสิทธิภาพที่สุด

 

hacklink

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง