รมว. อว. นำคณะตรวจความพร้อม โรงพยาบาลสนาม มทส. มอบนโยบายพร้อมให้กำลังใจผู้ร่วมปฏิบัติภารกิจฝ่าวิกฤติโควิด-19

รมว. อว. นำคณะตรวจความพร้อม โรงพยาบาลสนาม มทส.

มอบนโยบายพร้อมให้กำลังใจผู้ร่วมปฏิบัติภารกิจฝ่าวิกฤติโควิด-19

 

     22 เมษายน 2564 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  นำคณะเข้าตรวจเยี่ยมความพร้อมโรงพยาบาลสนามในสังกัด อว. พร้อมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมปฏิบัติภารกิจฝ่าวิกฤติโควิด-19 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  พร้อมมอบนโยบายแนวทางการรับมือสถานการณ์ COVID-19 หน่วยงานในสังกัด อว.  พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รองศาสตราจารย์ ร.อ. ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล ประธานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) อาจารย์ นายแพทย์ ดร.นิวัฒน์ชัย นามวิชัยศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล มทส.  รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564

 

 

 

     นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวรายงานสรุปว่า   “จังหวัดนครราชสีมาคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด เปิดใช้งานโรงพยาบาลสนามแห่งแรก ขนาด 100 เตียง ภายในอาคารชาติชายฮอล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นแห่งที่สอง เพื่อรองรับผู้ป่วยในจังหวัดนครราชสีมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา  โดยสถานการณ์ล่าสุด (22 เม.ย.64) พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม จำนวน 25 ราย รวมมียอดผู้ป่วยสะสมรวม 353 ราย รักษาหาย 15 ราย ยังรักษาอยู่ 338 ราย โดยมีอำเภอเพิ่มขยับขึ้นเป็น 22 อำเภอ โดยอำเภอที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองนครราชสีมา 160 ราย อำเภอปากช่อง 94 ราย อำเภอสีคิ้ว 18 ราย และ อำเภอด่านขุนทด 18 ราย ส่วนอำเภออื่นๆ ยังมีผู้ป่วยเลขระหว่าง 1-5 ราย นอกนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ มีการประเมินสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับ 20-30 ราย เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนไม่ให้มีการแพร่กระจายของโรค และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมาได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วนในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เพื่อบรรเทาสถานการณ์จนกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ”    

 

 

   รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีสำนักวิชาแพทยศาสตร์และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์เพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองปัญหาการขาดแคลนของแพทย์และพยาบาลในพื้นที่ โดยสามารถผลิตบัณฑิตแพทย์ได้ปีละ 90 คน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล ที่ให้บริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยวิกฤติในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมารวมถึงจังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ปัจจุบัน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับการรับรองเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 12 ของประเทศ มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษา สังกัด อว. ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ระดมสรรพกำลังเพื่อยกระดับมาตรการเฝ้าระวังร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด นับแต่ประกาศจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ บุคลากรปฏิบัติงานแบบ Work from home พร้อมยกระดับการดำเนินงานของโรงพยาบาล มทส. รับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19  ด้วยการเสริมอัตรากำลังคลินิก ARI  สำหรับตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงสัมผัสโรค การใช้อาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการเข้าพักรักษาตัวของผู้ป่วยปานกลางและผู้ป่วยหนักซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 250 เตียง ประกอบด้วย หอผู้ป่วยวิกฤติ ห้องความดันลบ หอผู้ป่วยอาการปกติ จำนวน 50 เตียง และหอผู้ป่วยอาคารเฝ้าระวัง จำนวน 120 เตียง รวมถึงสถานที่กักตัวเฝ้าระวัง (Local Quarantine) ที่หอพักสุรนิเวศ 17 (S17) จำนวน 66 ห้อง จัดสถานที่กักตัวเฝ้าระวังสำหรับนักศึกษา มทส. ที่หอพักสุรนิเวศ 13, 14    

 

 

     การจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการป่วยเล็กน้อย จำนวน 200 เตียง ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ รวมถึงการปิดสนามกีฬา สวนสาธารณะ ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าใช้บริการ นอกจากนี้ แผนรับมือ หากมีการติดเชื้อและแพร่ระบาดในวงกว้าง และเมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 รพ. มทส. สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้สูงสุดวันละ 500 คน ที่อาคารโภชนาการชั้น 2  สำหรับนักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอก หวังว่าจะสามารถรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างเท่าทันสถานการณ์ การดำเนินการทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการในพื้นที่ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีพร้อมที่จะรองรับผู้ป่วยเพื่อแบ่งเบาภาระการดูแลรักษาให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย”

 

     ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตนได้มอบนโยบายให้มหาวิทยาลัย  โรงเรียนแพทย์ และสถานวิจัยต่างๆ ภายใต้สังกัด อว. ที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเพื่อร่วมต่อสู้กับวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ ด้วยเปิดพื้นที่โรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาลสนาม ปัจจุบันมีจำนวน 37 แห่ง มีเตียงกว่า 12,822 เตียง โดยคำนึงถึงหลักสุขอนามัยทางการแพทย์  จัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม เพื่อรองรับพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อเข้ารับการเฝ้าระวัง หรือแม้กระทั่งเข้าบำบัดรักษา ตามขั้นตอนทางสาธารณสุขอย่างพอเพียง และทันสถานการณ์  อีกทั้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ สร้างขวัญและกำลังใจให้ทุกภาคส่วนร่วมฝ่าวิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยให้กลับสู่สภาวะปกติในที่สุด”

 

 

     ในโอกาสนี้ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ให้เยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ อว. เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ โดย คณาจารย์นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ประกอบด้วย “หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคในอากาศด้วยกระบวนการโฟโตแคตาไบติก (น้องบริสุทธ์ : Bori - SUT)”  “เครื่องฆ่าเชื้อชุด PPE ด้วย H2O2 กระบวนการโฟโตแคตาไบติก” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันโท นายแพทย์บุระ สินธุภากร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขเกษม วัชรมัยสกุล  “เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสและฟอกอากาศด้วยระบบโคโรน่าดิสชาร์จ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา และผลงานวิจัย มทส. ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ประกอบด้วย “ตู้ตรวจเชื้อระบบทางเดินหายใจ ความดันบวก (positive pressure) และความดันลบ (negative pressure)” “เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ” และผลงาน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ณ อาคารบริหาร มทส. “เครื่องมือตรวจวัด ประสิทธิภาพหน้ากากอนามัย” ซึ่งได้จัดสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์มอบแก่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และภาคอีสาน ช่วงแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด  -19 ของประเทศ”

 

     จากนั้น รมว.อว. พร้อมด้วยผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา  ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมพื้นที่ Local Quarantine ณ อาคารหอพักสุรนิเวศ 17  คลินิกตรวจคัดกรองโรค (คลินิก ARI) ตรวจเยี่ยมหอผู้ป่วยภาวะวิกฤติ ห้องความดันลบ หอผู้ป่วยอาการปกติ และหอผู้ป่วยอาคารเฝ้าระวัง ณ อาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และร่วมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล มทส.

ภาพกิจกรรม   https://www.facebook.com/sutnews/posts/4217940431551984

 

ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.

22 เมษายน 2564

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง