มทส. เปิด Innovation Playground พื้นที่พัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดย โครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา (SEDA) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดพิธีเปิด Grand Opening Innovation Playground และเปิดป้ายอาคารปฏิบัติการความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนาแนวคิดสู่การทำธุรกิจของนักศึกษา โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มทส. และผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมงาน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 ณ อาคารเครื่องมือ 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า “การสนับสนุนการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (Innovative Startup) ซึ่งการเปิด Innovation Playground ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในครั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่และจัดซื้อครุภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม เพื่อใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรม (Co-working Space) พัฒนาศักยภาพนักศึกษาในมหาวิทยาลัยให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนด้านความเป็นผู้ประกอบการ สำหรับนักศึกษาที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจสามารถเข้าร่วมการประกวดแนวคิดธุรกิจ Startup Thailand League และนักศึกษาที่เข้าสู่ระยะการสร้างการเติบโตจะได้รับการสนับสนุนผ่านกิจกรรมการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ ระหว่างกิจการขนาดใหญ่และมหาวิทยาลัย (Business Brotherhood Programme) ซึ่งในทุก ๆ กิจกรรมพื้นที่แลกเปลี่ยนรู้เรียนและสร้างสรรค์นวัตกรรม ถือเป็นส่วนสำคัญในระบบนิเวศผู้ประกอบการ ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างเสริมประสบการณ์และการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ พัฒนาความสามารถด้านความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา ที่จะเป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศในลำดับต่อไป”
ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “การที่ มทส. ก้าวสู่ความสำเร็จแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ เกิดจากพลังขับเคลื่อนภายใน ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร พนักงาน และนักศึกษา ประกอบกับพันธมิตรจากภายนอก คือ การสนับสนุนจากรัฐบาล ความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการต่าง ๆ ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า มทส. ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ได้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่นำระบบสหกิจศึกษามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาตรี และเป็นต้นแบบให้แก่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ จนถึงปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศเข้าร่วม 117 แห่ง มีนักศึกษาสหกิจศึกษากว่า 40,000 คนต่อปี มีผู้ประกอบการเข้าร่วม กว่า 10.000 แห่ง สำหรับความพยายามก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ หรือ Entrepreneurial University นั้น มหาวิทยาลัยต้องอาศัยพลังผลักดันและสนับสนุนจากทุก ๆ ด้าน ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะประเด็นนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ไม่ใช่การผลิตบัณฑิตเพื่อไปเป็นลูกจ้าง แต่มหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทหน้าที่ในการผลิตบัณฑิต เพื่อให้ทางเลือกไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ จึงเกิดกระบวนการของการศึกษา เกิดโครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา หรือ SEDA ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่ไม่ใช่เพียงการเผยแพร่ความรู้ เกิดการเรียนการสอน สร้างกิจกรรมนอกหลักสูตรเฉพาะที่ มทส. เท่านั้น แต่ยังขยายผลไปสู่ที่อื่น ๆ ด้วย เพื่อให้มีการยอมรับอย่างกว้างขวาง กระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาที่เรียกว่า Entrepreneurial Education ทำให้มีหลักสูตรเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น มีหลักสูตรไปผูกกับสาขาวิชาต่าง ๆ ผูกกับสหกิจศึกษา เป็น Enterprise Coop หรือมาผูกกับกิจกรรม ดังเช่นความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในครั้งนี้ จนเกิดเป็น Innovation Playground ที่จะช่วยบ่มเพาะสำหรับคนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต และเป็นโอกาสให้ มทส. ได้พัฒนาไปสู่การเป็น Entrepreneurial University”
รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มทส. กล่าวด้วยว่า “มทส. เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ มีทิศทางการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ SUT Re-profile 2020 เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise กล่าวคือเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ และเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านจากการเป็น Teaching & Research University ไปเป็น Entrepreneurial University หรือ มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการความคิดของคนในองค์กร ทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ให้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Entrepreneurial University การดำเนินการที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมที่มาจากผลงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนา ปรับแปลง และถ่ายทอดเทคโนโลยี ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ นอกจากนี้ การให้ความสำคัญต่อการสร้างความเป็นผู้ประกอบการ บ่มเพาะนักศึกษาให้มีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ โดยดำเนินการเชิงรุกในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การปรับหลักสูตรให้มีเนื้อหาด้าน Entrepreneurship และ Innovation Management เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเข้าสู่การประกอบอาชีพในลักษณะ Self-Employment หรือเจ้าของกิจการ หรือเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาด้านสหกิจศึกษาสู่สหกิจศึกษาประกอบการ (Enterprise Coop) สำหรับนักศึกษาที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต การปรับปรุงหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาในเรื่องความเป็นผู้ประกอบการ ทั้งนี้ มทส. มีโครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา หรือ SEDA ที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ให้ได้เรียนรู้กระบวนการคิดและพัฒนาทักษะในการสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายที่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนมาก เช่น SUT Startup Camp พัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ ให้นักศึกษาเข้าใจกระบวนต่าง ๆ ในการเริ่มต้นธุรกิจ นับเป็นต้นแบบกิจกรรมให้กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย กิจกรรม SUT Hackathon เป็นรูปแบบความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาธุรกิจ รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสนับสนุนความเป็นผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มทส. ยังได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านความเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนให้ก้าวสู่การเป็น Entrepreneurial University ได้อย่างแท้จริง”
พร้อมกันนี้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายร่วมพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม TED Fund สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (TCDC) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย Dtac Accelerate กลุ่มบริษัท มิตรผล บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เทเลเมดิก้า จำกัด (OOCA) และ บริษัท แคเรียร์วีซ่า ดิจิตอล จำกัด การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “The role of Entrepreneurship in developing sustainable growth of the country” โดย Dr. Mats Anders Lundqvist, Professor in Entrepreneurship at the Division of Entrepreneurship and Strategy, Director of Chalmers School of Entrepreneurship and Master programme, Coordinator for the Master Programme Entrepreneurship and Business Design และการนำเสนอผลงานของกลุ่มนักศึกษาที่เริ่มต้นพัฒนาแนวคิดสู่การทำธุรกิจ อีกด้วย
ส่วนประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
25 มกราคม 2562

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง