นิสิตนักศึกษา พสวท. จากทั่วประเทศตะลุยโคราช สู่ เส้นทางสู่ พสวท. 4.0 หาโจทย์-แก้ปัญหา ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ

นิสิตนักศึกษา พสวท. จากทั่วประเทศตะลุยโคราช สู่ “เส้นทางสู่ พสวท. 4.0.”

หาโจทย์-แก้ปัญหา ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ

 

         เปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ ค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อน พสวท. ครั้งที่ 32 สำหรับนิสิตนักศึกษาโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1-2 จาก 10 ศูนย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนกว่า 330 คน ระหว่างวันที่ 9-13 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมและรีสอร์ท สตาร์ไลท์ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดค่ายในครั้งนี้  โดยได้รับเกียรติจาก ผศ. ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นประธานในพิธีเปิด

 ในโอกาสนี้ นิสิตนักศึกษายังได้รับฟังการบรรยายพิเศษจากวิทยากรที่มีชื่อเสียง อาทิ ศ. ดร.สนอง เอกสิทธิ์  (บัณฑิต พสวท. รุ่นที่ Y) อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “งานวิจัยพื้นฐาน...ขายได้ เชื่อผมเถอะ ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์” รศ. ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในหัวข้อ “เส้นทาง 15 ปี จากงานวิจัยพื้นฐาน สู่ Tech Startup 100 ล้าน”  กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “Design Thinking” จาก SEDA มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และการบรรยายโดย ศ. ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ บัณฑิต พสวท. รุ่นที่ 3 และ ผู้อำนวยการ สสวท. ในหัวข้อ “ทิศทางของโครงการ พสวท. ในยุคไทยแลนด์ 4.0”  และกิจกรรมหลักในการจัดค่ายจะมุ่งเน้นให้นิสิต-นักศึกษามีความเข้าใจในความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เพื่อนำความเป็นผู้ประกอบการไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานสู่การนำไปใช้ได้จริงต่อไป  โดยได้แบ่งนิสิตนักศึกษาเป็น 5 กลุ่มหลัก ในการไปศึกษาดูงานในสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด โรงไฟฟ้าชีวมวล มทส. บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่  บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

            ทั้งนี้ภายหลังจากการศึกษาดูงานแล้ว นิสิตนักศึกษายังได้แสดงศักยภาพในการนำโจทย์ปัญหาจากการดูงานมาพัฒนาเป็นโครงการและนวัตกรรมเพื่อแข่งขันในกิจกรรม “DPST Science and Technology Pitching Competition” เพื่อพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์ไปสู่การพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ส่วนประชาสัมพันธ์

11 กรกฎาคม 2561

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง