“co-walk มทส.” ผลงานวิจัยของคนไทย ชนะเลิศ Leaders in Innovation Fellowships ภายใต้ทุน Newton Fund สหราชอาณาจักร

นักวิจัยไทยสร้างชื่อในเวทีระดับนานาชาติ โดยผลงานวิจัย เรื่อง “เครื่องช่วยพยุงเดินต้านแรงโน้มถ่วง (co-walk)” ของ อาจารย์ พันโท นายแพทย์บุระ สินธุภากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 จากการประกวดในโครงการ Leaders in Innovation Fellowships (LIF) Programme ประจำปี 2561 โดย The Royal Academy of Engineering ภายใต้ทุน Newton Fund สหราชอาณาจักร นับเป็นงานวิจัยที่สร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยผู้ป่วยกายภาพบำบัดให้สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ อาจารย์ พันโท นายแพทย์บุระ สินธุภากร ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ The Royal Academy of Engineering เป็น 1 ใน 7 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิน และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและเข้าร่วมการประกวดโครงการ Leaders in Innovation Fellowships (LIF) Programme และยังมีอีก 7 ผลงานวิจัยของไทยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เข้าร่วมประกวดโครงการครั้งนี้ด้วย

 

สำหรับเครื่องช่วยพยุงเดินต้านแรงโน้มถ่วง (co-walk) เป็นผลงานวิจัยจากการรวมสหวิทยาการหลายสาขาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยความร่วมมือระหว่างสำนักวิชาแพทยศาสตร์ โดยมี อาจารย์ พันโท นายแพทย์บุระ สินธุภากร สาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย รับผิดชอบโครงการและการทดสอบทางคลินิก ร่วมกับสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พรศิริ จงกล สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การุญ ฟังสุวรรณรักษ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเรือง มะรังศรี สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มาร่วมออกแบบและพัฒนาระบบกลไกการทำงาน เพื่อให้ผลงานวิจัยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการรักษาผู้ป่วยอย่างแท้จริง

 

อาจารย์ พันโท นายแพทย์บุระ สินธุภากร รองคณบดีฝ่ายบริหาร สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) หัวหน้าโครงการวิจัย เผยว่า “เครื่องช่วยพยุงเดินต้านแรงโน้มถ่วง หรือ co-walk พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ทำกายภาพบำบัด หลักการทำงาน คือ การใช้แรงดันลมจากชุดควบคุมแรงดันลม ประกอบด้วย มอเตอร์และปั๊มอัดอากาศ อัดอากาศเข้าไปยังเครื่องพยุงเพื่อให้เกิดแรงยกขึ้นเหมือนเป็นการพยุงให้ผู้ทำกายภาพบำบัดอยู่ในสภาวะเสมือนไร้น้ำหนัก มีความมั่นคง และลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บเนื่องจากแรงกระแทกที่กระทำกับอวัยวะส่วนล่าง เช่น เข่า ข้อเท้า ทำให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในขณะทำการกายภาพบำบัด

ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถนำมาประกอบใช้กับลู่วิ่งอัตโนมัติ โดยผู้ทำกายภาพบำบัดต้องใส่กางเกงที่ออกแบบเฉพาะและติดตัวล็อกเข้ากับผ้าใบพยุง อุปกรณ์จะมีการประมวลผลแรงดันลมและน้ำหนักที่ต้องการให้สัมผัสพื้น ให้เหมาะสมกับน้ำหนักและส่วนสูงของผู้ทำกายภาพบำบัด เมื่ออุปกรณ์เริ่มทำงาน มอเตอร์จะหมุนไปขับให้ปั๊มอัดอากาศ จนอากาศภายในถุงลมมีความดันสูงตามพิกัดที่ได้ประมวลผล จากนั้นอุปกรณ์ที่ชื่อว่า Pressure Switch จะทำการตัดวงจรไฟฟ้าทำให้มอเตอร์และปั๊มอัดอากาศหยุดทำงาน เพื่อทำหน้าที่ในการพยุงผู้ป่วยให้สามารถออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัดโดยการเดินหรือวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย เครื่องช่วยพยุงเดินต้านแรงโน้มถ่วงนี้ได้มีการนำมาทดสอบใช้จริงกับผู้ป่วยของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโลยีสุรนารี พบว่า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการใช้อุปกรณ์ และสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพได้เป็นอย่างดี โดยทีมวิจัยจะยังคงเก็บข้อมูลและพัฒนาศักยภาพในด้านการเสริมสร้างกล้ามเนื้อของผู้ป่วยในลำดับต่อไป” อาจารย์ พันโท นายแพทย์บุระ กล่าว

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง