มทส. จับมือ การยางแห่งประเทศไทย ร่วมศึกษาวิจัยถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำสวนยางครบวงจร

มทส. จับมือ การยางแห่งประเทศไทย ร่วมศึกษาวิจัยถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำสวนยางครบวงจร

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านบริหาร (กยท.) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี วีระชัย ศรีสาร ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีคณะผู้บริหารจากทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส. 

 


รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ มทส. โดยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการประสานดำเนินการ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดสรรพื้นที่กว่า 160 ไร่ ในการทำแปลงยางพาราเพื่อรองรับงานวิจัยด้านพัฒนาสวนยางและผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 สามารถเก็บผลผลิตได้แล้วประมาณ 80 ไร่ ใช้ประโยชน์ทั้งการเรียนการสอนและงานวิจัยของคณาจารย์ งานวิจัยมีตั้งแต่งานวิจัยต้นน้ำ ได้แก่ งานพัฒนาสวนยาง จนถึงปลายน้ำหรือการแปรรูปยาง สำหรับงานวิจัยด้านพัฒนายางพารา ได้เน้นการใช้เทคโนโลยีการปลูกยางให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีฝนปริมาณน้อยและดินขาดความอุดมสมบูรณ์จึงได้มีการพัฒนาการปลูกยางพาราโดยใช้ระบบน้ำหยด ทำให้สามารถปลูกยางพาราได้ผลเป็นอย่างดี และยางพาราที่เปิดกรีดแล้วได้ผลผลิตน้ำยางมากกว่าการปลูกในสภาพที่ไม่มีระบบน้ำถึง 100 กก./ไร่ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการปลูกพืชแซมในสวนยางพารา ได้แก่ มันสำปะหลัง กล้วย มะละกอ และพืชคลุมดิน ซึ่งช่วยให้เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงที่ยางยังไม่ให้ผลผลิต ทั้งนี้ งานวิจัยทั้งหมดได้เป็นแหล่งศึกษาดูงาน พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตยางพารา และผลิตภัณฑ์ทั้งระบบ”

 


นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า “การยางแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราพืชเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร โดยจัดให้มีการศึกษา วิจัย พัฒนา เผยแพร่ข้อมูลและดำเนินการให้ระดับราคายางมีเสถียรภาพ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการ ด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การประกอบธุรกิจและดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน ต้นยางมีการปลูกแพร่หลายทั่วประเทศพื้นที่ประมาณ 20 ล้านไร่ อันดับหนึ่งคือภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือกระจายทั้ง 19 จังหวัด ทำรายได้เข้าประเทศได้ปีละหลายแสนล้านบาท แต่ในปัจจุบันยางพารามีราคาตกต่ำเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น ปัญหาเรื่องอุปสงค์และอุปทานของสินค้ายางพารา ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ได้แก่ประเทศจีนมีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำลง และมีประเทศผลิตยางพารารายใหม่เพิ่มขึ้น หวังว่า ความร่วมมือนี้จะเกิดการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างครบวงจร เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากร นักศึกษา หรือวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยจะร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรผู้ทำสวนยาง สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพารา และผลิตภัณฑ์ทั้งระบบ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาราคายางพารา และรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำในปัจจุบัน”

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง